ทบทวนอนามัยสิ่งแวดล้อม

วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สอบถามข้อมูล ปรึกษาปัญหาระหว่างการฝึกภาคสนาม1 ของสาธารณสุขชุมชนปี2/2553

บล็อคนี้มีไว้สำหรับนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงสาธารณสุขศาสตร์(สาธารณสุขชุมชน)ชั้นปีที่ 2/2553  โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1.ติดต่อสื่อสารระหว่างนักศึกษากับอาจารย์ในภาควิชาสาธารณสุขชุมชนระหว่างฝึกปฏิบัติการภาคสนาม
2.แจ้งข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต้องทราบระหว่างอาจารย์ผู้นิเทศและนักศึกษาขณะฝึกปฏิบัติงาน
3.รายงานสถานการณ์/ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในระหว่างการฝึกปฏิบัติงานในแต่ละสัปดาห์
4.สอบถามข้อมูล/ข่าวสาร /และเครื่องมือเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าวิชาการเพิ่มเติม
5.ศูนย์กลางการสื่อสารประชาสัมพันธ์ข่าวสารระหว่างทีมฝึกภาคสนามแต่ละทีมด้วยกัน
โดยผู้ที่จะโพสต์ข้อความต้องใช้ข้อความสุภาพ และแจ้งชื่อ-สกุล(e-mail) และชื่อแหล่งฝึก
                                                                                           ดำรงค์ศักดิ์   สอนแจ้ง
                                                                                        ภาควิชาสาธารณสุขชุมชน
                                                                               วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธรจ.ชลบุรี
                                                                                 tel(038) 275665 ต่อ 123

ความรู้พื้นฐานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม(การจัดการสิ่งปฏิกูล2)

ความรู้พื้นฐานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม(การจัดการที่อยู่อาศัย)

1.คำนิยามเกี่ยวกับที่พักอาศัย
ที่อยู่อาศัย หมายถึง อาคารบ้านเรือน รวมถึงตึก โรง และแพที่มนุษย์จัดสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยทั้งกลางวันและกลางคืน ภายในที่อยู่อาศัยประกอบด้วยสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องการมีทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกสบายอุปกรณ์และสิ่งที่ใช้สอยที่จำเป็นตามความต้องการทางด้านร่างกาย จิตใจ และความเป็นอยู่ที่ดีงามทั้งส่วนตัวและครอบครัวของผู้พักอาศัย
สถาบัน หมายถึง อาคารสถานที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นที่ทำการซึ่งกำหนดให้เป็นที่ชุมชน จึงเป็นอาคารที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน หรือสถานศึกษา หอประชุม โรงมหรสพ โรงพยาบาล โรงแรม และเรือนจำเป็นต้น
การสุขาภิบาลที่อยู่อาศัยและสถาบัน หมายถึง การจัดการและควบคุมดูแลที่อยู่อาศัยหรือสถาบันให้สะอาดถูกสุขลักษณะ โดยจัดการให้ได้ตามความต้องการขั้นมูลฐานทั้งทางร่างกาย จิตใจ และจัดให้ปลอดภัยจากการเกิดอุบัติเหตุและการเกิดโรคระบาดในผู้พักอาศัยหรือผู้ใช้บริการด้วย
2. ความจำเป็นที่ต้องจัดการสุขาภิบาลที่อยู่อาศัยและสถาบัน
2.1ความจำเป็นที่ต้องจัดการสุขาภิบาลที่อยู่อาศัย
              ที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยสำคัญของมนุษย์ที่ทุกคนเกิดมาจะต้องมีเพื่อเป็นที่พักผ่อนนอนหลับหรืออยู่กินเป็นประจำของตนเองและครอบครัว โดยที่อยู่อาศัยที่ดีสะอาดและถูกสุขลักษณะตามหลักสุขาภิบาล จะช่วยส่งเสริมให้ผู้อาศัยมีความสุขและสบายทั้งร่างกายและจิตใจ ปลอดภัยจากการเกิดอุบัติเหตุและโรคติดต่อที่เกิดจากที่พักอาศัยเป็นสาเหตุได้
2.1.1 ลักษณะความบกพร่องของที่อยู่อาศัย
             ในแต่ละแห่งซึ่งเป็นข้อบกพร่องพื้นฐานทางด้านการสุขาภิบาลที่สำคัญคือ
. น้ำดื่ม น้ำใช้ไม่สะอาด ไม่เพียงพอ
. ห้องน้ำห้องส้วมอยู่นอกอาคารและใช้รวมกับเพื่อนบ้าน
. มีสถานที่อาบน้ำรวมกับผู้อื่น
. มีห้องพักรวมกันอยู่หลายคน
. พื้นที่ห้องนอนแคบ
. อาคารบ้านพักอาศัยมีทางออกทางเดียว
. ไม่มีไฟฟ้าใช้ แสงสว่างไม่เพียงพอ
. ห้องไม่มีหน้าต่าง และที่ระบายอากาศ
. ที่พักอาศัยมีสภาพทรุดโทรม บริเวณบ้านสกปรก มีน้ำขัง
2.1.2 หลักการที่สำคัญในการจัดที่อยู่อาศัยให้ถูกสุขลักษณะ มี 4 อย่าง ดังนี้
. จัดที่อยู่อาศัยให้ตามตามความต้องการของร่างกาย
. จัดที่อยู่ให้ได้ตามความต้องการทางจิตใจ
. จัดที่อยู่ให้ผู้อาศัยมีความปลอดภัย
. จัดที่อยู่อาศัยมีความปลอดภัยจากโรคติดต่อ
2.2 ความจำเป็นที่ต้องจัดการสุขาภิบาลสถาบัน
             เนื่องจากสถาบันที่ใช้ประกอบการหรือทำการเพื่อจัดบริการบางอย่างตามกำหนด จึงย่อมประกอบด้วยผู้ให้และบริการ และผู้รับบริการ สถาบันจึงมีบุคคลมากมาย ย่อมจะมีปัญหาต่าง ๆ ตามมา ที่สำคัญคือ ทุกคนมีความต้องการความสะดวกสบายทั้งร่างกายและไม่ต้องการได้รับทุกข์ โดยเหตุนี้สถาบันจะต้องจัดให้อยู่ในสภาพที่สะอาดปลอดภัยต่อการแพร่กระจายเชื้อโรคอุบัติเหตุ และอันตรายที่เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ภายในอาคารควรจัดให้มีการส่งเสริมสุขภาพอนามัยให้แก่บุคลากรต่าง ๆ ด้วย
3. ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการสุขาภิบาลที่อยู่อาศัยและสถาบัน
1.ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการสุขาภิบาลที่อยู่อาศัย
1.1 สภาพของที่อยู่อาศัยโดยทั่ว ๆ ไปส่วนใหญ่ไม่ถูกสุขลักษณะ ทั้งในด้านแสงสว่าง การระบายอากาศ และขาดสิ่งอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการสุขาภิบาลในบ้านพัก เช่น การประปา ไฟฟ้า การจัดการขยะมูลฝอย น้ำโสโครก แมลง การมีส้วมใช้ ตลอดจนความสะดวกสบายและความปลอดภัย
1.2 สภาพทางสังคม สภาพทางสังคมบางอย่างเป็นสาเหตุของปัญหาและเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหา เช่น ความยากจนของประชาชน การอพยพย้ายถิ่น การจัดบริการที่อยู่อาศัยโดยรัฐและเอกชนยังจัดทำได้ไม่ทั่วถึง การจัดบริการด้าน ประปา ไฟฟ้า ถนน รัฐยังจัดให้มีได้น้อยมาก ความเคยชินของประชาชนบางอย่างทำให้ขาดความสนใจในการสุขาภิบาลที่อยู่อาศัย ในด้านมาตรการทางกฎหมาย การวางผังเมืองทั้งชุมชนในเมืองและชนบทยังไม่มี
2.ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการสุขาภิบาลสถาบัน
2.1 การออกแบบและการก่อสร้างสถาบันบางแห่งไม่ถูกสุขลักษณะ ปัญหานี้เกิดจากผู้ออกแบบและการก่อสร้างขาดความสนใจหรือไม่ให้ความสำคัญของการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม
2.2 ผู้บริหารหรือผู้รับผิดชอบสภาบันขาดความสนใจ
2.3 ขาดการวางผังเมืองที่ถูกต้องหรือไม่มีการวางผังเมืองในชุมชน ทำให้ที่ตั้งของสถาบันไม่เหมาะสม
2.4 ขนาดของสถาบันไม่เหมาะสมกับกิจการ เช่น เล็กเกินไปไม่พอเพียงหรือไม่เหมาะสมกับผู้มาใช้บริการ ทำให้คับแคบ แออัด
2.5 มาตรการทางกฎหมายยังมีข้อบกพร่อง และมีการปล่อยปละละเลยกันมาก
2.6 การจัดบริการสถาบันต่าง ๆ เช่น สถาบันทางการศึกษา การรักษาพยาบาลนั้นรัฐบาลจัดบริการได้ไม่ทั่วถึงและไม่เพียงพอ

ตอนที่ 2.2 หลักการจัดการสุขาภิบาลที่อยู่อาศัย
หลักการจัดการสุขาภิบาลที่อยู่อาศัย
1) การจัดที่อยู่อาศัยให้ได้ตามความต้องการขั้นมูลฐานทางร่างกาย ที่สำคัญได้แก่ การระบายอากาศ แสงสว่าง การปราศจากเหตุรำคาญ พื้นที่บริเวณบ้านหรือที่อยู่อาศัย
2) การจัดที่อยู่อาศัยให้ได้ตามความต้องการทางจิตใจ ที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขลักษณะจะต้องมีสภาพที่ช่วยส่งเสริมผู้อาศัยให้มีความสุขสบายทางจิตใจ ความต้องการทางด้านจิตใจของผู้อยู่อาศัยแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกันไป แต่ความสบายใจนั้นส่วนใหญ่เกิดจากสภาพแวดล้อมในที่อยู่อาศัย ความต้องการขั้นพื้นฐานทางด้านจิตใจของผู้อาศัยที่สำคัญ คือ ความเป็นสัดส่วนของที่อยู่อาศัยและความเป็นอิสระและควรอยู่ห่างจากสิ่งรบกวน ห้องนอนควรจัดให้พอเหมาะไม่แออัด ความสวยงามและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ควรมีลักษณะที่น่าดู สวยงาม จึงจะทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความสุขสบายในจิตใจ ความสะอาดที่อยู่อาศัยเป็นสิ่งที่ทุกคน ปารถนาเพราะทำให้เกิดความสบายใจและสบายตาเมื่อพบเห็น รวมทั้งของเสียจะต้องได้รับการจัดเก็บให้เรียบร้อย จัดให้มีความสะดวกสบายแก่ผู้อยู่อาศัย ที่อยู่อาศัยควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกตามความจำเป็นขั้นมูลฐานด้านต่าง ๆ
3) การป้องกันอุบัติเหตุในที่อยู่อาศัยอุบัติเหตุ คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายมาก่อนหรือจงใจให้เกิดขึ้น จะต้องมีการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ไว้ล่วงหน้า และหาทางแก้ไขปัญหาด้วย เช่น
3.1 สร้างที่อยู่อาศัยให้มั่นคงแข็งแรง
3.2 สร้างที่อยู่อาศัยให้มีการป้องกันอัคคีภัยและมีทางหนีไฟ
3.3 ป้องกันอันตรายที่เป็นอุบัติเหตุจากภัยธรรมชาติ
3.4 การป้องกันอุบัติเหตุจากแมลงและสัตว์กัดต่อยและการใช้ยาฆ่าแมลง
3.5 การป้องกันการรุกรานจากโจรผู้ร้าย
3.6 การบำรุงรักษาซ่อมแซม
3.7 การเลือกทำแลสร้างที่อยู่อาศัยให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุ
4) การควบคุมและป้องกันการเกิดโรคติดต่อในที่อยู่อาศัย การควบคุมและการป้องกันการเกิดโรคและการระบาดของโรคติดต่อในที่อยู่อาศัยนับว่าสำคัญ บ้านที่ไม่ถูกสุขลักษณะจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค และทำให้เกิดโรคติดต่อระบาดขึ้นในหมู่ผู้พักอาศัย สิ่งจำเป็นทางด้านการสุขาภิบาลในที่อยู่อาศัยที่ควรพิจารณาได้แก่
4.1 น้ำดื่ม น้ำใช้ น้ำที่จัดไว้สำหรับดื่มและใช้ในที่อยู่อาศัยควรจะต้องสะอาดได้มาตรฐานน้ำสะอาดและมีปริมาณเพียงพอแก่การใช้ในครอบครัวหรือผู้อยู่อาศัย
4.2 การกำจัดอุจจาระ ภายในที่อยู่อาศัยจะต้องมีที่สำหรับกำจัดอุจจาระที่ถูกสุขลักษณะ โดยปกติแล้วเป็นส้วมซึม ส้วมชักโครก หรือส้วมถังเกรอะ ซึ่งควรมีเพียงพอแก่ผู้พักอาศัย
4.3 การกำจัดขยะมูลฝอย ตามอาคารที่อยู่อาศัยควรได้จัดให้มีการเก็บรวบรวมขยะมูลฝอยในถังขยะที่ถูกสุขลักษณะ ไม่ให้เป็นที่เพาะพันธุ์แมลงและเชื้อโรค
4.4 การกำจัดน้ำเสีย น้ำเสียที่เกิดขึ้นตามอาคารที่อยู่อาศัยควรจัดเก็บรวบรวมและกำจัดที่ถูกต้อง อย่าให้เกิดการปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำและอาหาร
4.5 การเก็บรักษาอาหารและการถนอมอาหารเพื่อบริโภค การเก็บอาหารที่สามารถเน่าเสียได้ ควรเก็บไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ
4.6 การควบคุม ป้องกันแมลงและสัตว์พาหะนำโรค อาคารที่พักอาศัยต่าง ๆ ควรได้มีการควบคุมป้องกัน และกำจัดแมลงและสัตว์พาหะนำโรค

ความรู้พื้นฐานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม(การจัดการสุขาภิบาลด้านอาหาร)

การสุขาภิบาลอาหาร
ตอนที่ 6.1 นิยามและความหมาย
การสุขาภิบาลอาหาร ( Food Sanitation ) หมายถึง การดำเนินการด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่จัดการเกี่ยวกับอาหารทั้งในเรื่องของการปรับปรุง การบำรุงรักษา และการแก้ไขเพื่อให้อาหารที่บริโภคเข้าไปแล้วมีผลดีต่อสุขภาพอนามัยโดยให้อาหารมีความสะอาด ปลอดภัยและมีความน่าบริโภค
อาหาร หมายความว่า ของกินหรือเครื่องค้ำจุนชีวิต ได้แก่
1. วัตถุทุกชนิดที่คนกิน ดื่ม อม หรือนำเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ หรือในรูปลักษณะใด ๆ แต่ไม่รวมถึงยา วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือยาเสพติดให้โทษ
2. วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้หรือใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอาหาร รวมถึงวัตถุเจือปนอาหาร สี และเครื่องปรุงแต่งกลิ่นรส

ตอนที่ 6.2 ความสำคัญของอาหารและการสุขาภิบาลอาหาร
อาหารมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดและความต้องการอาหารของสิ่งมีชีวิตต่างก็มีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับกลุ่มของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ มนุษย์มีความต้องการอาหารเพื่อวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ
1. เพื่อสร้างพลังงานในการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกายให้เป็นไปตามปกติ
2. เพื่อให้เกิดความสดชื่นกระปรี้กระเปร่าร่าเริงผ่องใส รวมถึงความแข็งแรงและมีความต้านทานต่อโรคภัยไข้เจ็บ
3. เพื่อการเจริญเติบโตและซ่อมแซมอวัยวะส่วนที่สึกหรอของร่างกาย
สารอาหาร ( Nutrient ) ที่สำคัญซึ่งร่างกายต้องการแบ่งเป็น 6 ประเภท ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต ไขมันโปรตีน เกลือแร่ วิตามิน และน้ำ ถ้าหากมนุษย์ได้มีการบริโภคสารอาหารทั้ง 6 ประเภทครบถ้วนและได้ตามสัดส่วนที่เหมาะสมต่อความต้องการของร่างกายแล้วก็น่าที่จะมั่นใจได้ว่าจะทำให้มีสุขภาพอนามัยดีตามไปด้วยแต่ในความเป็นจริงแล้วนอกจากการบริโภคอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนและมีสัดส่วนตามความต้องการของร่างกายแล้วจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงคุณภาพของอาหารในด้านอื่น ๆ อันได้แก่ ความสะอาด ( cleanliness ) ความปลอดภัย ( safe ) และความน่าบริโภค ( asethetic ) ดังนั้นการสุขาภิบาลอาหารและการโภชนาการจึงควรดำเนินการควบคู่กันไปเพื่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค การสุขาภิบาลอาหารมีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดการอาหารให้เกิดความสะอาด ความปลอดภัย และมีความน่าบริโภค ด้วยการปรับปรุงบำรุงรักษา และแก้ไขให้สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในการดำเนินการจัดการอาหารในทุกขั้นตอนไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกวัตถุดิบ การขนส่งและการเก็บรักษาอาหารดิบ การเตรียมและการปรุงอาหาร ( การผลิตอาหาร ) และอาหารปรุงสำเร็จ ( ผลิตภัณฑ์อาหาร ) ก่อนบริโภค ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาโรคภัยไข้เจ็บอันเนื่องมาจากการบริโภคอาหารการเกิดโรคเนื่องจากอาหารเป็นสื่อนำ ( Food- borne Disease
)การเกิดโรคเนื่องจากอาหารเป็นสื่อนำหมายถึงการเกิดเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการบริโภคอาหารที่ทำให้เกิดโรค หนอนพยาธิหรือสารเคมีที่เป็นพิษเข้าไปในปริมาณที่มากพอที่จะทำให้เกิดอาการของโรค
1. การปนเปื้อนของจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคเนื่องจากอาหารเป็นสื่อนำ
. Staphylococcus จุลินทรีย์พวก Staphylococcus
มักทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)Staphylococcus ที่มีความสำคัญในการทำให้อาหารเป็นพิษคือ Staphylococcus พิษที่มันสร้างขึ้นแบ่งตามหลักของเซรุ่มวิทยาได้เป็น 6 ชนิด คือ ชนิด A, B, C1, C2, D และ E ความเป็นพิษของแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันและส่วนใหญ่แล้วชนิดที่ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษนั้นมักมาจากชนิด A เกิดการปนเปื้อนในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ น้ำนมและผลิตภัณฑ์น้ำนม คัสตาร์ด น้ำสลัดหรือครีมทาขนมปัง จะมีอาการ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้องปัญหาสำคัญในการป้องกันเชื้อดังกล่าวคือการทำลายด้วยความร้อนที่อุณหภูมิของน้ำเดือดสามารถทำลายเชื้อStaphylococcus ได้ แต่ไม่สามารถทำลายพิษของเชื้อนี้
. Clostridium botulinum จุลินทรีย์จำพวก Clostridium botulinum
มักทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษที่เรียกว่า botulism การสร้างพิษของมันจะทำลายระบบประสาทได้ (neurotoxin) แบ่งตามชนิดของการสร้างพิษตามหลักเซรุ่มวิทยาได้เป็น 7 ชนิด คือ A, B, C, D, E, F, และ G ชนิดที่ทำให้เกิดพิษในมนุษย์คือ ชนิด A, B, E,และ F แหล่งของอาหารได้แก่ ดิน ฝุ่นละออง พืช ผัก ผลไม้ อาการของโรคคือ เส้นประสาทรอบนอก จะค่อย ๆถูกทำลายทีละน้อย ๆ กลืนอาหารลำบาก ตาพร่าฟาง มองเห็นภาพซ้อน ท้องผูก และในที่สุด อาจทำให้เกิดอาการหัวใจล้มเหลว แนวทาง การป้องกันโรคดังกล่าวคือ การนำอาหารมาต้มให้เดือดนานมากกว่า 5 นาที ก่อนที่จะบริโภค หรือ ไม่นำอาหารที่น่าสงสัยมาบริโภค
. Clostridium Perfringens
สปอร์ของเชื้อสร้างพิษภัยในเซลล์ (Enterotoxin) ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ แบคทีเรียชนิดนี้ มักพบในอาหารดิบ ดิน น้ำโสโครก มูลสัตว์ ปนเปื้อนในอาหารพวกปลา เนื้อ และสัตว์ เมื่อรับเชื้อเข้าไปในปริมาณประมาณหลายล้านตัว ต่ออาหาร 1 กรัม มีอาการตั้งแต่ ปวดท้อง ท้องเดิน และมีลมอยู่ในกระเพาะ การป้องกันการเกิดโรค ได้แก่ การนำอาหารแช่เย็นโดยเร็ว หรือถ้าจะบริโภคเป็นอาหารร้อนต้องรักษาอุณหภูมิ ของอาหารให้สูงกว่า 60 องศาเซลเซียสก่อนที่จะนำมาบริโภคและการปรุงหรือการประกอบอาหารควรจะต้องมีสุขวิทยาที่ดี
. Mycotoxin
พิษของราดังกล่าวเรียกว่า Alfatoxin พิษของ Alfatoxin อาจทำให้ตับถูกทำลายอย่างรุนแรง ทำให้มีเลือดออก ถือเป็นสารก่อมะเร็ง มีความทนทานต่อความร้อนได้ดี มักพบในอาหารที่มีสารอาหารคาร์โบไฮเดรต อยู่ปริมาณสูง เช่น อาหารแป้ง ข้าว ถั่วลิสง เผือก มัน
. Salmonella
อาการของโรค คือ มีไข้ตัวร้อน คลื่นไส้ ปวดท้องเกร็ง ท้องเสีย ปวดศีรษะ เวียนศีรษะและอาเจียน มักพบเชื้อดังกล่าวในอาหารจำพวก เป็ด ไก่ น้ำนม และผลิตภัณฑ์ของน้ำนม พืชผักต่าง ๆ และมะพร้าวแห้ง
. Streptococcus
เป็นแบคทีเรียซึ่งทำให้มนุษย์เป็นโรคเจ็บคอ ( septic sore throat ) หรือ เป็นโรคไข้อีดำอีแดง (scarlet fever ) มีอาการคอแดง ทอนซิลอักเสบ กลืนอาหารลำบาก มีไข้สูง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนมีน้ำมูกไหล บางครั้งอาจเกิดผื่น ( ลมพิษ ) พบในอาหารประเภท นม ไอศกรีม กุ้งอบไอน้ำ สลัด คัสตาร์ด พุดดิ้งหรืออาหารที่มีไข่หรือนมเป็นส่วนผสม วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดโรค ได้แก่ การแช่แข็งอาหารไนปริมาณน้อย ๆทันที การประกอบอาการหรือปรุงอาหารต้องมีสุขวิทยาที่ดี
. Vibrio paraheamolyticus
พบมากในอาหารทะเล ได้แก่ หอยนางรม กุ้ง ปู อาการของโรค คือปวดท้อง ท้องเสีย (อุจจาระอาจมีเลือดหรือเยื้อปนเปื้อนอยู่ ) มักมีอาการคลื่นไส้ และอาเจียน มีไข้ต่ำ มีอาการหนาวสั่น ปวดศีรษะ อาการปัสสาวะขัด การป้องกันไม่ให้เกิดโรคดังกล่าวได้แก่ การปรุงอาหารให้สุกอย่างทั่วถึง การแช่เย็นอาหารควรแช่โดยปริมาณน้อย ๆ ไม่ควรใช้น้ำทะเลล้างอาหารที่ต้องการบริโภคดิบ และภาชนะอาหาร
2. การเกิดโรคเนื่องจากอาหารมีหนอนพยาธิ
หนอนพยาธิแบ่งเป็น 3 ประเภท คือพยาธิตัวแบน พยาธิตัวกลม และพยาธิใบไม้ พยาธิตัวแบนและพยาธิใบไม้สามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้ง่ายกว่า เพราะสามารถใช้ความร้อนในการทำลาย พยาธิตัวกลมที่นับว่าเป็นปัญหาสำคัญที่มักปนเปื้อนในอาหาร ได้แก่ ทริชิเนลลา เพราะมีความทนทานต่อความร้อนได้สูงมากและมีความสามารถมีชีวิตอยู่ในเนื้อเยื้อของสิ่งมีชีวิตได้เป็นเวลายาวนานกว่า
3. การเกิดโรคเนื่องจากอาหารมีสารพิษหรือสารเคมีเป็นพิษ
. สารพิษที่มีในอาหารโดยธรรมชาติ อาหารในธรรมชาติมีหลายชนิดที่มีสารที่ไม่เกิดประโยชน์หรืออาจเกิดโทษต่อมนุษย์เป็นองค์ประกอบ โดยเฉพาะอาหารจำพวกพืชหลายชนิดมีสารพิษเป็นองค์ประกอบอยู่มากบ้าง น้อยบ้างแล้วแต่ชนิดของอาหารถ้ามีปริมาณมากก็อาจจะทำให้ผู้บริโภคเข้าไปถึงขั้นตายได้ในทันที สารพิษหรือสารเคมีเป็นพิษที่มักมีอยู่ในอาหารจำพวกพืช ได้แก่ สาร Lythylus ทำให้เกิดโรค lythyrism คือโรคที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้ออ่อนแออาจเกิดจากอัมพาตได้ อาจมีในถั่วเม็ดกลมดิบ เช่น ถั่วลันเตาดิบ สาร Goitrogens ที่อาจะพบในรากของพืชบางชนิด หรือสารไฮโดรเจนไซนาไนด์อาจพบในอาหารพืชบางชนิด เช่น ในน้ำมันของเมล็ดอัลมอนและในอาหารพืชหลายชนิด ได้แก่ การบริโภคเห็ดป่าบางชนิด เช่น เห็ดหัวกรวดครีบเขียว เห็ดขี้ควาย เมื่อบริโภคจะมีอาการมึนเมา คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ตาลาย ใจสั่น และอ่อนเพลีย ส่วนอาหารที่มาจากพวกสัตว์ที่มักมีสารพิษทำให้เกิดอันตรายก็มักจะเป็นพวกอาหารทะเลอาจมีสารไทอะมิเนส ซึ่งอาจทำลายไทอะมิน ทำให้ร่างกายขาดวิตามินบี 1
. การมีสารพิษหรือสารเคมีเป็นพิษปนเปื้อนในอาหาร
การปนเปื้อนนั้นอาจเกิดตั้งแต่การเพาะปลูก ตัวอย่างเช่น ในการปลูกผลไม้ที่ต้องการบริโภค หากมีการใช้ยาฆ่าแมลงในปริมาณมากเกินไปจนมีสารตกค้างของยาฆ่าแมลงอยู่และผู้บริโภคไม่ล้างให้สะอาดจนกระทั่งไม่มีสารดังกล่าวแล้วอาจเกิดอันตรายได้ เช่น ตัวอย่างของโรคพิษของสารหนู ซึ่งมีสาเหตุมาจากบริโภคอาหารที่มีสารตกค้างจากการใช้ยาฆ่าแมลง ซึ่งจะทำให้เกิดอาการท้องเสีย ปวดเบ่งเวลาถ่าย และอาเจียนนอกจากนี้สารปนเปื้อนอาจจะเกิดจากการใช้วัตถุเจือปนหรือสารปรุงแต่งที่มีสารพิษหรือสารเคมีเป็นพิษตัวอย่างเช่นการใช้สารแซ็กคารินแทนน้ำตาลเพื่อเพิ่มความหวานในอาหารหรือการใช้สีย้อมผ้าแทนสีผสมอาหารเหล่านี้ล้วนแต่ไม่ทำให้เกิดประโยชน์และยังอาจเกิดโทษหากมีการบริโภคในปริมาณที่อาจทำอันตรายได้

ตอนที่ 6.3หลักเกณฑ์พื้นฐานของงานสุขาภิบาลอาหาร
หลักเกณฑ์พื้นฐานของงานสุขาภิบาลอาหาร
ในการจัดการสุขาภิบาลกับสถานที่ที่จะต้องใช้ในการประกอบอาหารหรือผลิตอาหาร ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ที่จะใช้ประกอบอาหารเพื่อการบริโภคภายในครอบครัว ร้านอาหาร ตลาด หรือโรงงานอุตสาหกรรมอาหารจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงเกณฑ์ในการจัดการสุขาภิบาลขั้นพื้นฐานดังนี้คือ
1. สถานที่ตั้ง สถานที่ตั้งของสถานที่ประกอบหรือผลิตอาหารจะต้องเลือกบริเวณที่จะไม่ทำให้สิ่งแวดล้อมของสถานที่ตั้งได้รับการปนเปื้อนจากสิ่งสกปรก ไม่ก่อให้เกิดปัญหาเดือดร้อน รำคาญอันเนื่องมาจากกลิ่น เสียง สถานที่ตั้งควรมีลักษณะดังนี้
1.1 ควรตั้งอยู่ในบริเวณที่ห่างไกลจากแหล่งสิ่งสกปรกต่าง ๆ เช่น ห้องครัวควรอยู่ห่างจากห้องส้วมหรือบริเวณที่ทิ้ง หรือเก็บกักหรือโรงงานกำจัดขยะมูลฝอย หรือบริเวณคอกเลี้ยงสัตว์
1.2 ควรอยู่ใกล้สถานที่ที่มีสาธารณูปโภคบริการอย่างครบถ้วน เพื่อสะดวกต่อการทำความสะอาดเช่น บริการน้ำประปา บริการไฟฟ้า บริการรวบรวมและกำจัดขยะมูลฝอย และบริการรวบรวมน้ำเสียเพื่อนำไปบำบัดและกำจัด
1.3 พื้นที่ที่ใช้ในการประกอบหรือผลิตอาหารจะต้องมีความเพียงพอและเหมาะสม ควรแยกเป็นสัดส่วน ออกจากบริเวณอื่นโดยเฉพาะบริเวณที่พักอาศัย และพื้นที่จะต้องสร้างโดยมีความลาดเอียงเพื่อช่วยการระบายน้ำเสียจากการประกอบอาหาร และจะต้องไม่เป็นที่ลุ่มมีน้ำขัง
2. อาคารที่ใช้ประกอบอาหาร
การออกแบบอาคารที่ใช้ประกอบอาหารจะต้องคำนึงถึงความมั่นคงแข็งแรงของตัวอาคารและสามารถดูแลบำรุงรักษาได้ง่าย โดยมีข้อควรคำนึงถึงดังนี้คือ
2.1 การออกแบบและก่อสร้างห้องครัวหรือสถานที่ที่ใช้ในการประกอบอาหาร ต้องทำให้มีประตูหน้าต่าง และผนังที่อยู่ด้านนอกอาคารมีความเหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงและสัตว์นำโรค
2.2 วัสดุที่ใช้ในการสร้างอาคาร ไม่ว่าจะเป็น ผนัง เพดาน ประตู หน้าต่างหรือช่องลม ควรเป็นวัสดุที่เรียบ ทำความสะอาดง่าย มีความแข็งแรง
2.3 พื้นของอาคารที่ใช้ในการประกอบหรือปรุงอาหาร จะต้องทำด้วยวัสดุที่แข็งแรงไม่ดูดซับน้ำ มีความทนทานต่อการกัดกร่อนของสารเคมี ทำความสะอาดง่าย ไม่ลื่น พื้นผิวเรียบไม่ขรุขระ และควรมีความลาดเอียงเพื่อไม่ให้มีน้ำขัง
2.4 ต้องจัดสถานที่ทำงานให้มีความพอเพียงและเหมาะสม โดยให้มีพื้นที่ปฏิบัติงานการทำอาหารให้พอเพียงกับปริมาณอาหารหรือจำนวนคนปฏิบัติงาน รวมถึงเครื่องจักรอุปกรณ์
2.5 ต้องจัดให้มีการระบายอากาศที่เพียงพอและเหมาะสม เพื่อไล่ควันหรือกลิ่นที่เกิดจากการปรุงหรือประกอบอาหารให้ออกไปในทันที โดยให้มีพื้นที่ของประตูและหน้าต่างและช่องระบายลมไม่น้อยกว่า 10เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ห้อง และเมื่อจัดให้มีระบบการระบายอากาศภายในสถานที่ประกอบหรือปรุงอาหารแล้วควรดำเนินการบำรุงรักษาอุปกรณ์ที่ใช้ในการระบายอากาศให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอไม่ให้ฝุ่นละออง สิ่งสกปรกปนเปื้อนอื่น ๆ จับอยู่ที่อุปกรณ์
2.6 ต้องจัดให้มีแสงสว่างที่เหมาะสม เพื่อการป้องกันอุบัติเหตุและลดอาการเมื่อยล้าของร่างกาย
3. การปฏิบัติงานหรือการดำเนินการประกอบอาหารหรือการผลิตอาหารที่ปลอดภัยจากเชื้อโรคหรือสารพิษใด ๆ เริ่มตั้งแต่ 1. การเตรียมอาหาร 2. การผลิตอาหาร 3. การบรรจุอาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหาร การปฏิบัติให้เกิดการปลอดเชื้อโรคหรือสารพิษใด ๆ ทั้ง 3 ขั้นตอนกล่าวมีการปฏิบัติดังนี้คือ
3.1 การปฏิบัติให้มีการควบคุมและเก็บวัตถุดิบที่ดี มีขั้นตอนการปฏิบัติดังนี้
. วัตถุดิบที่เลือกนำมาใช้ต้องเลือกจากแหล่งที่เชื่อถือได้ หรือเป็นที่ยอมรับของเจ้าพนักงานสาธารณสุข
. ต้องมีการวินิจฉัย การรักษาและการแยกวัตถุดิบที่เป็นโรคหรืออาจมีสารพิษออกจากวัตถุดิบที่ดี เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่กระจายโรคหรือสารพิษมาสู่มนุษย์หรือเพื่อไม่ให้วัตถุดิบที่ดีอื่น ๆ ถูกทำลาย ควรเลือกแต่วัตถุดิบที่มีคุณภาพหรือมีสุขภาพดี
. อาจต้องมีการใช้สารฆ่าแมลงและสารฆ่าราเป็นระยะ ๆ เพื่อไม่ให้วัตถุดิบโดยเฉพาะที่เป็น พืชถูกทำลาย หรือเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรค หรือทำการป้องกันไม่ให้แมลง นก หนู เข้าไปในห้องเก็บวัตถุดิบแต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อคนงานหรือผู้บริโภค
. การเก็บวัตถุดิบต้องมีพื้นที่ขนาดพอเพียง วัตถุประสงค์คือ
- เพื่อให้เกิดการระบายความเย็นให้แก่วัตถุดิบที่สามารถเก็บไว้ได้ต่อเนื่อง
- เพื่อให้สามารถทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรคได้สะดวกและมีประสิทธิภาพดี
- ต้องหมั่นตรวจสอบวัตถุดิบอยู่เสมอเพื่อให้ได้วัตถุดิบที่จะนำไปใช้ที่ดี
3.2 การจัดหาน้ำที่มีคุณภาพดีใช้ในการประกอบอาหาร น้ำที่ใช้ในการประกอบอุตสาหกรรมอาหารจะต้องมีคุณสมบัติเทียบได้กับคุณสมบัติของน้ำสะอาดเพื่อการบริโภคเป็นอย่างต่ำ โดยจะต้องพิจารณา
. น้ำที่จะนำมาใช้ต้องเป็นน้ำที่มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และสามารถใช้ได้ทั้งน้ำร้อนและน้ำเย็นตามความต้องการและปริมาณที่ไม่จำกัด ตัวอย่างของน้ำจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ได้แก่ น้ำประปาของการประปานครหลวงหรือประปาภูมิภาค ซึ่งมีการตรวจสอบคุณภาพเป็นประจำสม่ำเสมอว่ามีความสะอาดปลอดภัย
. จัดหาน้ำที่มีคุณภาพดีใช้ในการประกอบอาหารหรือตามประเภทของอาหารที่ผลิต การใช้น้ำสำหรับประกอบอาหารอาจแบ่งวัตถุประสงค์ของการใช้น้ำได้หลายอย่าง ได้แก่ การปรุงอาหาร การล้างภาชนะอุปกรณ์สัมผัสอาหาร การนำของเสียหรือสิ่งสกปรกออกจากห้องครัวหรือจากร้านค้าหรือโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร และการบริโภคของผู้ประกอบอาหารหรือคนงาน โดยทั่วไปแล้วคุณภาพน้ำในการประกอบอาหารต้องมีคุณสมบัติของน้ำสะอาดเพื่อการบริโภคเป็นอย่างต่ำ
3.3 ดำเนินการป้องกันการปนเปื้อนของอาหารในทุก ๆ ขั้นตอนของการประกอบอาหารหรือกระบวนการผลิตอาหาร
. เครื่องมืออุปกรณ์ ( Eqipments ) เครื่องใช้ที่ใช้ในการประกอบอาหารจะต้องมีความพอเพียงและเหมาะสมกับการใช้งานเพื่อป้องกันการปนเปื้อนอาหาร ต้องเป็นวัสดุที่ทำความสะอาดง่าย มีพื้นผิวเรียบ ทำด้วยวัสดุไร้สนิม และไม่มีสารพิษเคลือบหรือเป็นองค์ประกอบ
. บุคลากรหรือคนงานผู้ต้องสัมผัสอาหาร จะต้องเป็นผู้ที่มีสุขวิทยาส่วนบุคคลที่ดีเพื่อป้องกันการปนเปื้อนอาหารหรือการแพร่กระจายโรค โดยจะต้องคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้คือ
- จัดหาน้ำสะอาดให้ผู้ที่จะต้องสัมผัสอาหารใช้ จะต้องเป็นน้ำที่สะอาดได้มาตรฐานน้ำดื่มซึ่งหน่วยงานสาธารณสุขของรัฐเป็นผู้กำหนด
- ให้คำแนะนำเรื่องสุขวิทยาส่วนบุคคล เพราะถ้าสุขวิทยาส่วนบุคคลของผู้สัมผัสอาหารไม่ดีแล้วก็ย่อมจะทำให้อาหารเกิดการปนเปื้อนสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคได้
- จัดให้มีอุปกรณ์ทำความสะอาดให้แก่ผู้สัมผัสอาหารใช้ได้อย่างสะดวกและเหมาะสม เช่น ห้องอาบน้ำ อ่างล้างมือ ตู้เก็บเสื้อผ้า เพื่อไม่ให้ร่างกายหรือเครื่องนุ่งห่มเกิดความสกปรกในขณะที่ต้องทำการสัมผัสอาหาร
- จัดให้มีสิ่งแวดล้อมที่มีความเหมาะสมต่อการปฏิบัติงาน ได้แก่ แสงสว่าง การระบายอากาศอุณหภูมิ และความสะอาดของสถานที่ที่ใช้ในการประกอบอาหาร
. แมลงและสัตว์นำโรคที่มักก่อปัญหาในโรคอาหารเป็นสื่อนำนี้ ได้แก่ แมลงวัน แมลงสาบมด หนู นก สุนัข ในการป้องกันและควบคุมแมลงและสัตว์นำโรคนั้นสามารถกระทำได้หลายวิธีการดังนี้ คือ
1) การออกแบบและการก่อสร้างสถานที่ประกอบอาหารจะต้องมีโครงสร้างที่สามารถป้องกันไม่ให้แมลงและสัตว์นำโรคเข้าสู่ภายในอาคารได้
2) ระบบการเดินท่อภายในอาคาร จะต้องไม่มีช่องว่างใด ๆเพื่อไม่ให้เป็นช่องทางที่แมลงและสัตว์ใช้เป็นช่องทางสามารถเข้าสู่ตัวอาคารได้
3) หน้าต่าง และช่องระบายอากาศจะต้องมีตาข่ายที่ปิดแน่น และจะต้องได้รับการบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่ดีไม่ฉีกขาด
4) ประตูที่เข้า-ออกตัวอาคารจะต้องปิดแน่น และจะต้องคงอยู่ในสภาพที่ปิดอยู่เสมอเมื่อไม่มีการเข้า-ออกสู่ตัวอาคาร
3.4 การให้คำแนะนำและควบคุมการเก็บรักษาอาหารหรือการบรรจุผลิตภัณฑ์อาหาร ต้องให้คงอยู่ในสภาพที่สะอาดปราศจากสิ่งปนเปื้อนอื่นใดที่ไม่ต้องการโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องปราศจากการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ ซึ่งการเก็บอาหารไว้ให้อยู่ในสภาพที่ดีมีคุณภาพของอาหารครบถ้วนจะต้องปฏิบัติดังนี้คือ
1) การเก็บอาหารควรเก็บไว้ในภาชนะที่สะอาดมีฝาปิดมิดชิด และควรเก็บอาหารไว้ในที่สูงจากพื้น เพื่อป้องกันการกระเด็นเปรอะเปื้อนและไม่ให้เกิดการปนเปื้อนอื่น ๆ
2) การเก็บอาหารที่ปรุงสุกแล้วหรือผลิตภัณฑ์อาหารจะต้องทำการเก็บรักษาแยกออกจากวัตถุดิบที่ยังไม่ได้ปรุงหรือล้างทำความสะอาดแล้วเพื่อป้องกันการปนเปื้อนอาหาร
3) การเก็บรักษาอาหารที่ปรุงสุกหรือผลิตภัณฑ์อาหารเมื่อยังไม่นำมาบริโภคจะต้องเก็บไว้ในสถานที่ที่สามารถป้องกันการปนเปื้อนจากสิ่งสกปรกต่าง ๆ
4) การเก็บรักษาอาหารหรือผลิตภัณฑ์อาหารจะต้องไม่เก็บรักษาไว้ในที่ที่เปียกชื้นและไม่เก็บไว้ในภาชนะที่มีความชื้นหรืออยู่ในลักษณะเปียก
4. การจัดการความสะอาดและการสุขาภิบาลทั่ว ๆ ไปในสถานที่ที่ใช้ในการประกอบอาหาร
4.1 การทำความสะอาดภาชนะอุปกรณ์และพื้นผิวสัมผัสอาหาร มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ
. เพื่อกำจัดเศษอาหารหรือสิ่งสกปรกอื่น ๆ ที่อาจจะมีสารพิษหรือจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคหรือสิ่งปนเปื้อนอื่น ๆ ให้ออกไปให้หมด
. เพื่อเป็นการรักษาความสะอาดสิ่งแวดล้อมและเป็นการส่งเสริมให้ผู้ที่จะต้องสัมผัสอาหารเกิดความตระหนักในเรื่องของสุขวิทยาส่วนบุคคลที่ดี
4.2 การดูแลความสะอาดเรียบร้อยของสถานที่ประกอบอาหาร โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 4ประการคือ
. เพื่อไม่ให้กลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงและสัตว์นำโรค
. เพื่อไม่ให้มีของเสียสะสมอยู่อันจะเป็นสาเหตุของการแพร่กระจายเชื้อโรคหรือจุลินทรีย์ที่อาจจะทำลายให้วัตถุดิบหรืออาหารเสื่อมเสียคุณภาพ
. เพื่อไม่ให้เครื่องจักรอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อยู่ภายในสถานที่ประกอบการเกิดการผุกร่อนหรือถูกทำลาย
. เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมในสถานที่ประกอบอาหารให้มีความสะอาดเป็นการส่งเสริมให้เกิดสุขวิทยาส่วนบุคคลที่ดีของผู้ปฏิบัติงานอยู่ภายในสถานที่ดังกล่าว
4.3 การบำบัดและการกำจัดของเสีย การประกอบอาหารมักจะต้องเกิดของเสียไม่ว่าจะเป็นของเสียที่อยู่ในรูปกลิ่น ซึ่งมาจากการ ทอด ต้ม ปิ้ง อบ จึงจำเป็นต้องทำการควบคุมและป้องกันอาจด้วยการใช้การระบายอากาศ ของเสียอาจเกิดในรูปของของเหลวได้แก่ น้ำเสียจากการประกอบอาหาร น้ำเสียจากการล้างวัตถุดิบ น้ำเสียจากการล้างอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้หรือภาชนะใส่อาหาร จึงจำเป็นที่จะต้องมีการบำบัดและกำจัด
5. การควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์อาหารและสารปรุงแต่งการควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์อาหารหรืออาหารที่ผ่านการปรุงเพื่อการบริโภครวมถึงสารปรุงแต่งที่จะนำมาใช้ในการประกอบอาหารมีความสำคัญต่อคุณภาพของอาหารเป็นอย่างมาก ซึ่งคุณภาพของอาหารนั้นต้องมีการเลือกวัตถุดิบและสารปรุงแต่งที่มีคุณภาพและทำการควบคุมไม่ให้เกิดการเสียคุณค่าหรือไม่ให้เกิดการปนเปื้อนก่อนที่จะนำมาใช้ เมื่อนำสารปรุงแต่งและวัตถุดิบที่มีคุณภาพมาใช้ในการประกอบอาหารด้วยกรรมวิธีที่ถูกต้อง เหมาะสมและมีการป้องกันการปนเปื้อนในระหว่างการประกอบอาหารเป็นอย่างดีแล้วจะทำให้อาหารที่ปรุงหรือผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้วมีคุณภาพดี แต่ถ้านำอาหารที่ประกอบเสร็จเรียบร้อยแล้วใช้
บริโภคทันทีด้วยการใส่ในภาชนะที่สะอาดปราศเชื้อโรคและสารพิษก็ย่อมที่จะทำให้เกิดประโยชน์ แต่หากนำมาเก็บรักษาไว้เพื่อรอการบริโภคในระยะเวลาหนึ่งจำเป็นที่จะต้องทำการเก็บรักษาไว้ให้เกิดความสะอาดและปลอดภัยจนกว่าที่จะนำมาใช้ในการบริโภค
6. สุขวิทยาส่วนบุคคล มนุษย์ ถือเป็นแหล่งของการปนเปื้อนที่สำคัญที่จะทำการแพร่กระจายโรคผ่านทางอาหารสุขวิทยาส่วนบุคคล ( hygiene ) หมายถึง คนที่มีความสะอาด มีพฤติกรรมที่สะอาด และมีสุขภาพอนามัยดี
6.1 ความสะอาดส่วนบุคคล ( Personal Cleanliness ) ความสะอาดส่วนบุคคล หมายถึง การแต่งกายด้วยเสื้อผ้าหรือเครื่องแต่งกาย และมีร่างกายที่สะอาด ผู้ที่จะประกอบอาหารหรือมีส่วนที่จะต้องสัมผัสอาหารควรจะต้องแต่งกายให้สะอาดอยู่เสมอและรักษาร่างกายให้สะอาดปราศจากสิ่งสกปรกเปรอะเปื้อนใด ๆ จึงควรมีผ้าคลุมผมและผ้าปิดปากที่สะอาด
6.2 พฤติกรรมที่สะอาด ( Personal Habit ) พฤติกรรมที่จำเป็นจะต้องฝึกปฏิบัติให้เกิดความเคยชินมีดังนี้
. การล้างมือให้สะอาด ในหลายกรณีได้แก่
- การล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำอุ่นก่อนทำงานและหลังจากเสร็จสิ้นการทำงานในแต่ละครั้ง
- การล้างมือซ้ำหลังจากที่มือได้สัมผัสกับสิ่งสกปรกในระหว่างการทำงาน เช่น เมื่อสัมผัสกับวัตถุดิบ การดื่มน้ำหรืออาหารอื่น ๆ การสูบบุหรี่ การสั่งน้ำมูก การเข้าห้องน้ำ
. ในขณะปฏิบัติงานควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะทำให้เกิดความไม่สะอาดเรียบร้อย เช่น การแคะจมูกหรือปาก การหวีผม การสูบบุหรี่ การสั่งน้ำมูก
. ต้องพยายามไม่ใช้มือสัมผัสอาหาร ควรใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่สะอาดในการจับต้องหรือสัมผัสอาหาร เช่น การใช้ช้อน ส้อม คีม เครื่องหั่น กระดาษฟอยด์ หรือพลาสติก
. การไอหรือจามต้องระมัดระวังด้วยการใช้ผ้าปิดปากและล้างมือให้สะอาดและถ้าเป็นไปได้ควรจะออกไปไอหรือจามให้ห่างจากบริเวณที่จะต้องใช้ในการสัมผัสอาหาร
6.3 สุขภาพอนามัยของผู้ที่จะต้องสัมผัสอาหาร ผู้ที่จะต้องสัมผัสอาหารจะต้องกระทำตนให้เป็นผู้ที่มีสุขภาพดีอยู่เสมอ ถ้าหากเกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อซึ่งอาจแพร่กระจายโรคสู่อาหารหรือหากทราบว่าจะเป็นพาหะนำโรคจะต้องไม่ปฏิบัติงานในบริเวณที่ผลิตอาหารหรือสัมผัสกับอาหารโดยเด็ดขาด เช่น เป็นแผลหนอง ถูกน้ำร้อนลวก ท้องเสีย เจ็บคอ โรคระบบทางเดินหายใจ หรือโรคดีซ่าน ควรให้มีการตรวจสุขภาพผู้ที่จะต้องสัมผัสอาหาร ถ้าเป็นผู้ที่ต้องปฏิบัติงานในร้านอาหารหรือโรงงานอุตสาหกรรมอาหารจะต้องมีการตรวจสุขภาพก่อนที่จะให้ทำงาน และให้มีการตรวจเป็นระยะในระหว่างปฏิบัติงาน เช่น ทุก ๆ 6 เดือน หรือ 1 ปี หากพบว่าเกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อจะต้องได้รับการรักษาให้หายก่อนจึงค่อยให้มาปฏิบัติหน้าที่ดังเดิม

ความรู้พื้นฐานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม(การจัดการน้ำสะอาด)

การจัดการน้ำสะอาด
ตอนที่ 2.1 ความสำคัญของน้ำ วัฏจักรของน้ำและแหล่งน้ำ
ความสำคัญของน้ำ น้ำเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของผิวโลก และมีอยู่ในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ทั้งมนุษย์
สัตว์ พืช และจุลินทรีย์ ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญของมนุษย์ น้ำมีความจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดโดยเฉพาะมนุษย์ซึ่งจำเป็นต้องใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค มนุษย์บริโภคน้ำเข้าไปในร่างกายและปล่อยน้ำออกจากร่างกายมากกว่าสารอื่น ๆ น้ำเป็นส่วนสำคัญของเนื้อเยื่อเกือบทุกชนิด และยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางสำหรับลำเลียงถ่ายเทสารอาหารและของเสีย นอกจากนี้ยังช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยน้ำประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักตัว นอกจากนี้การใช้ประโยชน์ของน้ำสำหรับมนุษย์นั้นยังมีอีกมากมายหลายอย่าง ได้แก่ การใช้เพื่อชำระล้างร่างกายและเครื่องนุ่งห่ม ใช้ในการประกอบอาหาร การเกษตร การล้างทำความสะอาดถนนและสาธารณสถานอื่น ๆ การพักผ่อนหย่อนใจ การอุตสาหกรรม การขับเคลื่อนสิ่งสกปรก การผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ การคมนาคม และการป้องกันอัคคีภัย จึงนับว่าน้ำเป็นทรัพยากรที่มีประโยชน์มากมายต่อมนุษย์อย่างแท้จริง
วัฏจักรของน้ำ ( Hydrologic Cycle ) วัฏจักรของน้ำหมายถึง การหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงระหว่างโมเลกุลของน้ำจากผิวโลกสู่บรรยากาศโดยการระเหย ( evaporation ) และคายน้ำของพืช ( transpiration ) และจากบรรยากาศสู่ผิวโลกโดยตกลงมาเป็นฝน หิมะ ลูกเห็บ และน้ำค้าง ณ จุดเริ่มต้นวัฏจักรจุดใดจุดหนึ่ง น้ำบนผิวโลก ได้แก่ น้ำทะเล มหาสมุทร แม่น้ำ ลำธาร เมื่อได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์จะเกิดการระเหย เปลี่ยนสภาวะจากของเหลวกลายเป็นไอลอยขึ้นสู่อากาศเบื้องบนเรียกว่าไอน้ำซึ่งบางส่วนอาจจะเกิดจากการคายน้ำของพืชไอน้ำรวมตัวกันกลายเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ขึ้นกลายเป็นก้อนเมฆเมื่อมีขนาดใหญ่ขึ้นมีน้ำหนักมากขึ้นก็จะลอยลงมาใกล้พื้นผิวโลกมากขึ้น และจะถูกความร้อนที่ผิวโลกละลายก้อนเมฆเหล่านั้นทำให้เกิดการกลั่นตัวกลายเป็นหยดน้ำตกลงมาสู่พื้นผิวโลก กลายเป็นน้ำฝน หิมะ ลูกเห็บ น้ำค้าง ซึ่งเรียกโดยรวมว่าน้ำจากบรรยากาศ
แหล่งของน้ำที่ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค ( Source of Water Supply )
1. น้ำฝน หรือน้ำจากบรรยากาศ ( Rain Water หรือ Precipitation Water ) หมายถึง น้ำทั้งหมดที่ได้จากการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำของก้อนเมฆโดยตรง เช่น น้ำฝน หิมะ ลูกเห็บ คุณสมบัติของน้ำฝนจึงเป็นน้ำบริสุทธิ์อย่างแท้จริง แต่เนื่องจากน้ำมีคุณสมบัติในการละลายสิ่งต่าง ๆ ได้ดี มันจึงอาจดูดซับแก๊สต่าง ๆ จากบรรยากาศถ้าเป็นบรรยากาศบริเวณทะเลหรือมหาสมุทรก็อาจดูดซับเกลือต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากฟุ้งกระจายของน้ำทะเล หรือมหาสมุทร นอกจากนี้ถ้าน้ำฝนตกผ่านบรรยากาศที่สกปรกก็อาจทำให้น้ำฝนนั้นมีความสกปรกได้ แต่ความสกปรกต่าง ๆ ที่ละลายในน้ำฝนอาจจะมีปริมาณความสกปรกไม่มากเกินมาตรฐานน้ำดื่มน้ำใช้ และถ้ามีการเก็บกักน้ำฝนดังกล่าวไว้ในภาชนะที่สะอาด ก็อาจจะนำน้ำฝนนั้นมาใช้ในการอุปโภคบริโภคได้โดยไม่ต้องมีการปรับปรุงคุณภาพ
2. น้ำผิวดิน ( Surface Water ) หมายถึง ส่วนของน้ำฝนที่ตกลงมาสู่พื้นดินแล้วไหลลงสู่ที่ต่ำโดยจะถูกเก็บกักในส่วนของพื้นดินที่เป็นหลุมเป็นแอ่ง ในทะเล มหาสมุทร แม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนองสระ น้ำผิวดินมีความสำคัญต่อชุมชนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่ โดยเฉพาะในทะเล และมหาสมุทร แต่น้ำทะเลก็ไม่นิยมที่จะนำมาใช้ในการอุปโภคบริโภค นอกจากจะใช้เพื่อการประมง และการคมนาคม น้ำผิวดินจืดในแต่ละแห่งจะมีคุณภาพที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อน้ำฝนตกลงมายังพื้นดินแล้วไหลผ่านบริเวณใด หรือชะล้างเอาสิ่งสกปรกอะไรลงไป อาจจะมีพวกธาตุ สารอินทรีย์ จุลินทรีย์ น้ำผิวดินจึงมักสกปรกกว่าน้ำฝนหรือใต้ดินดังนั้นการที่จะนำเอาน้ำผิวดินมาใช้ในการอุปโภคบริโภค จึงจำเป็นที่จะต้องนำมาปรับปรุงคุณภาพให้สะอาดปลอดภัยเสียก่อน
3. น้ำใต้ดิน ( Ground Water หรือ Underground Water ) หมายถึงน้ำที่อยู่ตามรูพรุน( porous ) ของดินหิน กรวด หรือทราย ซึ่งอยู่ใต้ผิวโลก น้ำใต้ดินเกิดจากการที่น้ำฝนหรือน้ำจากบรรยากาศในรูปอื่น ๆ ตกลงสู่พื้นผิวโลก และบางส่วนได้จากแหล่งน้ำผิวดิน ไหลซึมลงสู่เบื้องต่ำ และน้ำก็จะถูกกักไว้ตามช่องว่างหรือรูพรุนของดิน หินกรวด หรือทราย จนถึงชั้นของดินหรือหินที่น้ำซึมผ่านไม่ได้ แหล่งน้ำดังกล่าวนี้ ได้แก่ น้ำพุ น้ำบ่อบ่อน้ำซับ เป็นต้น

ตอนที่ 2.2 ปริมาณความต้องการน้ำ การสูญเสียน้ำและคุณลักษณะของน้ำ

ปริมาณความต้องการน้ำ
ความแตกต่างของปริมาณและอัตราการใช้น้ำนี้จะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบที่สำคัญหลายอย่างด้วยกันเป็นต้นว่า ลักษณะของชุมชนใหญ่ กลาง เล็ก ชุมชนเมืองที่แออัดหรือชุมชนชนบทที่ห่างไกล หรือชุมชนในเขตการค้าอุตสาหกรรม หรือชุมชนชนบทที่กำลังพัฒนาและมีความเจริญใกล้เคียงเมือง อัตราการใช้น้ำแบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้คือ
1. การใช้น้ำในที่พักอาศัย ( domestic use ) การใช้น้ำในที่พักอาศัยหรือบ้านเรือนของประชาชนนั้นถือว่าเป็นประเภทที่มีจำนวนผู้ใช้น้ำทั้งหมดและในวัตถุประสงค์หลายอย่าง เป็นต้นว่า การใช้ดื่ม การใช้ซักล้างการล้างรถ การรดน้ำต้นไม้ สวนครัว การหุงต้ม และตลอดจนใช้ทำความสะอาดห้องน้ำและห้องส้วม
2. การใช้น้ำสำหรับอุตสาหกรรม ( industrial use ) การใช้น้ำในอุตสาหกรรมนั้น โดยปกติแล้วจะมีปริมาณการใช้น้ำสูงกว่าในการใช้ครัวเรือน แต่ย่อมขึ้นอยู่กับขนาดของอุตสาหกรรมนั้น ๆ ด้วยว่ามีขนาดและชนิดของอุตสาหกรรมอย่างไร
3. การใช้น้ำในกิจการสาธารณะ ( public use ) การใช้น้ำในกิจการสาธารณะนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประชาชนทั่วไป และปริมาณการใช้ น้ำก็จะแตกต่างกันไปด้วยในกรณีชุมชนที่หนาแน่นและเจริญแล้ว กิจการสาธารณะเหล่านี้ได้แก่ การล้างและทำความสะอาดตลาดส้วมสาธารณะ ถนน ท่อน้ำโสโครก การดับเพลิงการรดสนามหญ้า ต้นไม้ตามถนนและหารบริการน้ำตามก๊อกสาธารณะ น้ำพุประดับ
4. การใช้น้ำเพื่อกิจการเลี้ยงสัตว์ ( farm animals ) การใช้น้ำในคอกปศุสัตว์ วัว ควาย ม้า สุกร ไก่ ปกติแล้วการใช้น้ำสำหรับเลี้ยงสัตว์และสวนครัวตามบ้านมักจะมีปริมาณไม่มากนักนอกจากกรณีทำฟาร์มหรือปศุสัตว์จำนวนมาก ๆ
5. การใช้น้ำสำหรับการค้า ( commercial use ) การใช้น้ำในธุรกิจการค้านั้น โดยปกติแล้วปริมาณการใช้น้ำจะสูงกว่าในการใช้ในครัวเรือน และย่อมจะขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกิจการค้าว่ามีขนาดและกิจการอย่างไรการสูญเสียของน้ำ ( Loss and waste ) ปริมาณน้ำที่จะต้องสูญเสียไป ระบบการประปา นั้นเป็นตัวอย่างที่ดีชี้ให้เห็นถึงการสูญเสียของน้ำที่มิสามารถเก็บเงินได้ ( unaccount ) ทั้งนี้จากเหตุหลายประการ เช่นการรั่วไหลเนื่องจากท่อน้ำแตกและข้อต่อชำรุด การจ่ายน้ำเพื่อการดับเพลิงการจ่ายน้ำฟรีเพื่อประชาชนในฤดูแล้งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ การใช้น้ำเพื่อ ล้างหน้าทรายทำความสะอาดถังตะกอน มาตรวัดน้ำชำรุด ฯลฯ ซึ่งการสูญเสียของน้ำที่เก็บ หรือคิดเป็นตัวเงินมีได้นี้ ประมาณร้อยละ 20 ของปริมาณการผลิตน้ำทั้งหมด
คุณลักษณะของน้ำ ( Characteristic of water ) เพื่อสะดวกต่อการเลือกใช้วิธีการปรับปรุงคุณภาพจึงจัดแบ่งประเภทของคุณลักษณะของน้ำไว้เป็น 3 ประเภท คือ คุณลักษณะของน้ำทางกายภาพหรือฟิสิกส์คุณลักษณะของน้ำทางเคมี และคุณลักษณะของน้ำทางชีวภาพ ดังนี้
1. คุณลักษณะทางด้านกายภาพหรือฟิสิกส์ ( Physical Characteristics ) คือลักษณะของน้ำ ที่สามารถวิเคราะห์ได้โดยทางกายสัมผัส ได้แก่ ความขุ่น สี กลิ่น รสชาติ อุณหภูมิ เป็นต้น
1.1 ความขุ่น ( Turbidity ) ความขุ่นของน้ำหมายถึง การที่น้ำมีพวกสารแขวนลอยอยู่ในน้ำให้บดบังแสงทำให้ไม่สามารถมองลงไปในระดับน้ำที่ลึกได้สะดวก สารแขวนลอยที่ทำให้น้ำมีความขุ่น ได้แก่ ดินละเอียดอินทรีย์สาร อนินทรีย์สาร แพลงตอน และจุลินทรีย์ สารพวกนี้อาจมีบางพวกกระจายแสงบางพวกดูดซึมแสงความขุ่นของน้ำ มีความสำคัญต่อปัญหาทางด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในด้านความน่าใช้
1.2 สี (Color) สีในน้ำตามธรรมชาติเกิดจากการหมักหมมทับถมกับของพืช ใบไม้ เศษวัสดุอินทรีย์ต่างๆความสำคัญทางด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของสีในน้ำ ถ้าเป็นสีที่เกิดโดยธรรมชาติจาการสลายของพืช ใบไม้ใบหญ้า นั้นถึงแม้จะไม่มีอันตรายต่อผู้บริโภค แต่เนื่องจากสีของมันเป็นสีเหลืองน้ำตาล จึงอาจทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ต้องการใช้น้ำดังกล่าวบริโภค จำเป็นต้องกำจัดออกถ้ามีปริมาณมาก
1.3 กลิ่น ( Odor ) กลิ่นในน้ำมักเกิดจากการที่น้ำมีจุลินทรีย์ เช่น สาหร่าย ความสำคัญทางด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของกลิ่นในน้ำ ทำให้น้ำนั้นไม่น่าใช้สอยคู่มือการพยาบาลส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
1.4 รสชาติ (Taste) รสชาติในน้ำเกิดจากการละลายน้ำของพวกเกลืออนินทรีย์ เช่น ทองแดงความสำคัญทางด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของรสชาติในน้ำทำให้น้ำไม่น่าดื่มและไม่น่าใช้สอย
1.5 อุณหภูมิ (Temperature) การที่อุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนแปลงอาจเกิดจากธรรมชาติ ในบางครั้งการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำอาจเกิดจากการที่น้ำได้รับการปนเปื้อนจากน้ำทิ้งที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์หรือจากโรงงานอุตสาหกรรม โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าเหล่านี้เป็นต้น ทำให้น้ำมีอุณหภูมิสูงหรือต่ำกว่าปรกติความสำคัญทางด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ของอุณหภูมิในน้ำนั้นอาจเป็นผลกระทบในทางอ้อม มีผลต่อสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในแหล่งน้ำ เช่นพวกปลาบางชนิดอาจจะมีชีวิตอยู่ไม่ได้ในน้ำที่มีอุณหภูมิสูงกว่าปรกติ มีผลต่อการทำปฏิกิริยาต่อการใช้เคมีกับน้ำ เช่น การปรับปรุงคุณภาพโดยใช้สารเคมี
2. คุณลักษณะทางด้านเคมี (Chemical Characteristics) คือ คุณสมบัติของน้ำที่มีองค์ประกอบของสารเคมี และอาศัยหลักการหาโดยปฏิกิริยาเคมี ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ในน้ำจะถูกกำหนดปริมาณโดยข้อบังคับที่เกี่ยวกับน้ำสำหรับบริโภค ได้แก่ ค่าความเป็นกรดด่าง ความกระด้าง ความเป็นด่าง ความเป็นกรด เป็นต้น2.1 ค่าความเป็นกรด ด่างของน้ำ หรือค่าพีเอช น้ำที่บริสุทธิ์จะมีค่าพีเอชเป็น 7 ความสำคัญทางด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของพีเอชในน้ำถ้ามีพีเอชต่ำมากจะมีฤทธิ์ในการกัดกร่อนอาจทำให้เกิดการกัดกร่อนท่ออุปกรณ์ หรือภาชนะต่าง ๆ ได้
2.2 ความกระด้างของน้ำ น้ำกระด้างหมายถึง น้ำที่เมื่อทำปฏิกิริยากับสบู่แล้วทำให้เกิดฟองได้ยาก ความกระด้างของน้ำแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ความกระด้างชั่วคราว และความกระด้างถาวร2.3 ความเป็นด่างของน้ำ (Alkalinity) หมายถึง ปริมาณความจุของกรดเข็มข้นในอันที่จะทำให้น้ำเป็นกลางโดยอาศัยพีเอช หรือ เป็นการหาว่าน้ำจะต้องใช้กรดทำให้เป็นกลางเท่าไร
2.4 ความเป็นกรดของน้ำ (Acidity) หมายถึง ปริมาณความจุที่ต้องการใช้ด่างเข้มข้นในการทำให้น้ำเป็นกลางที่บ่งชี้ได้โดยค่าพีเอช
2.5 เหล็กแมงกานีส (Iron and Mageaese) ธาตุเหล็กโดยทั่ว ๆ ไปจะอยู่ในรูปแบบสารไม่ละลายน้ำ ถ้าอยู่ในน้ำและแร่ธาตุก็จะอยู่ในรูปของสารไม่ละลายน้ำ เหล็กและแมงกานีสที่อยู่ในน้ำตามธรรมชาติแล้วไม่เป็นอันตรายต่อการบริโภค
2.6 คลอไรด์ (Chloride) คลอไรด์ที่ละลายอยู่ในน้ำตามธรรมชาติจะละลายอยู่ในปริมาณความเข้มข้นแตกต่างกันไป
2.7 ฟลูออไรด์ (fluoride) โดยทั่วไปแล้วในน้ำตามธรรมชาติมักไม่มีฟลูออไรด์ละลายอยู่ แต่เนื่องจากมีความสำคัญต่อสุขภาพฟัน ถ้ามีน้อยเกินไปอาจทำให้เกิดโรคฟันเปราะหักง่าย
2.8 ทองแดง (Copper) การที่ในน้ำมีทองแดงเป็นเช่นเดียวกันกับตะกั่วคือมักไม่เกิดจากธรรมชาติมีสาเหตุจากกิจกรรมมนุษย์
2.9 ไนไตรต์ (Nitrite) ในไตรเกิดจากปฏิชีวเคมีของจุลินทรีย์ในการออกซิเดชั่นแอมโมเนีย
2.10 ไนเตรด (Nitrate) ในเตรดมีอยู่ในน้ำธรรมชาติในปริมาณน้อยมากอาจเกิดจากพืช หรือสัตว์น้ำที่มีอินทรีย์
2.11 แก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ (Hydrogen Sulfide) เป็นแก๊สที่มักพบในน้ำใต้ดินโดยธรรมชาติซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาการย่อยสลายสารอินทรีย์และจุลินทรีย์
2.12 สารหนู (Arsenic) สารหนูเกิดจากน้ำตามธรรมชาติเนื่องจากการไหลของน้ำผ่านชั้นใต้ดินหรือหินที่มีสารหนู
2.13 พวกไตรฮาโลมีเธน (Trihalomethanes= THMs) เชื่อกันว่าเกิดจากการทำปฏิกิริยาระหว่างคลอรีนหรือพวกฮาโลเจนอื่น ๆ กับสารมิวมิคและฟุลวิคหรือสารที่เกิดจากการย่อยสลายสารอินทรีย์สาร อื่น ๆ
3. คุณลักษณะของน้ำทางด้านชีวภาพ (Biological Chracteristics) คุณลักษณะของน้ำ ทางด้านชีวภาพหมายถึง การที่น้ำมีสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ อยู่ในน้ำ สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในน้ำมีมากมายหลายอย่างตั้งแต่ พืชน้ำ สัตว์น้ำแพลงตอน และจุลินทรีย์
3.1 จุลินทรีย์ที่ไม่ทำให้เกิดโรค (Nonpathogenic Microorganism) ได้แก่พวก บัคเตรี โปรโตซัว สาหร่ายหรือราบางชนิด
3.2 จุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค (Pathogenic Microorganism) มีมากมายหลายชนิดที่ก่อให้เกิดอาการของโรคอย่างรุนแรงถึงขั้นตายได้ และมีอาการถึงเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย ได้แก่ ไวรัส บัคเตรี โปรโตซัว และหนอนพยาธิ เพราะน้ำเป็นตัวแพร่กระจายโรคบางชนิดได้ดี โดยกล่าวได้ดังนี้
. ไวรัส (Virus) ไวรัสเป็นจุลินทรีย์ที่มีขนาดเล็ก มากที่สุดไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ไวรัสที่อาจพบแพร่กระจายในน้ำแล้วทำให้เกิดโรคในมนุษย์
. บัคเตรี (Bacteria) เป็นจุลินทรีย์ที่มีขนาดโตกว่าไวรัสสามารถมองใช้กล้องจุลทรรศน์ธรรมดาส่องได้ มีเซลล์เดียว ใช้อาหารในรูปสารละลาย ส่วนใหญ่ก็เป็นโรคที่สามารถป้องกันรักษาได้ ได้แก่ อหิวาตกโรคโรคไข้ไทฟอยด์ โรคบิด
. โปรโตซัว (Protozoa) เป็นจุลินทรีย์ที่มีขนาดโตกว่าบัคเตรีไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า โปรโตซัวที่ทำให้เกิดโรคได้แก่ โรคบิดชนิดอมีบา โรคจิอาร์เดีย ทำให้เกิดท้องเสียท้องร่วงระยะนาน ปวดท้อง น้ำหนักตัวลด

ตอนที่ 2.3 การผลิตน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภค

ในการผลิตน้ำให้สะอาดเพื่อความปลอดภัยในการใช้อุปโภคบริโภคนั้น วัตถุประสงค์หลักก็เพื่อสุขภาพอนามัย ของมนุษย์ในการที่จะนำน้ำมาใช้ในด้านต่าง ๆ เช่น ปรุงอาหาร ชำระล้างร่างกายหรือประโยชน์ในด้านอื่น ๆ การผลิตน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภค จึงหมายถึง น้ำที่ผลิตหรือจัดทำขึ้นมาเพื่อใช้จะต้องปราศจาก ตัวการที่ทำให้เกิดโรคอันได้แก่เชื้อโรค และสารเคมี ที่เป็นพิษและเป็นอันตรายต่าง ๆ บางครั้งเรามักจะเรียกการเกิดโรคที่เกิดจากน้ำเป็นตัวนำว่าโรคที่เกิดจากน้ำเป็นสื่อหมายถึงโรคที่เกิดโดยการนำของน้ำซึ่งมีสิ่งอื่น ๆเจือปนอยู่ สิ่งเหล่านั้นอาจจะเป็นจุลินทรีย์และสารเคมีที่เป็นอันตรายที่ทำให้เกิดโรคเข้าไปในร่างกายเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ทำให้เกิดโรคขึ้นในหมู่มวลมนุษย์มาตรฐานคุณภาพน้ำ ต้องคำนึงถึงมาตรฐานของแหล่งน้ำดิบ มาตรฐานน้ำทิ้ง มาตรฐานเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งมาตรฐานทั้งสามประการมีการเกี่ยวพันกันมาตรฐานน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค โดยทั่วไปมีเกณฑ์การพิจารณาคุณภาพน้ำตามวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ได้อย่างกว้าง ๆ 3 ประเภท คือ เพื่อการดื่ม การเกษตร และการอุตสาหกรรม
วิธีการปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยทั่วไปแล้วการปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมีวิธีการปรับปรุงคุณภาพของน้ำดิบให้มีคุณภาพดีตามความต้องการได้หลายวิธี
1. การตกตะกอนจมตัว การตกตะกอนจมตัวเป็นการเก็บกักน้ำไว้ในคลองหรืออ่างเก็บน้ำโดยอาศัยธรรมชาติ เพื่อให้น้ำได้เกิดการฟอกตัวเองโดยธรรมชาติ
2. การกรองด้วยตะแกรง การกรองด้วยตะแกรงเพื่อสกัดของแข็งที่มีขนาดใหญ่จนถึงขนาดเล็กขึ้นอยู่กับขนาดรูของตะแกรงจึงอาจแบ่งชนิดของตะแกรงอย่างกว้าง ๆ เป็น 2 แบบ คือ ตะแกรงหยาบและตะแกรงละเอียด
3. การสร้างตะกอน การรวมตะกอน และการตกตะกอน
. การสร้างตะกอน เป็นกระบวนการที่ใช้โดยการเติมสารเคมีซึ่งเรียกสารสร้างตะกอนลงไปในน้ำซึ่งมีของแข็งขนาดเล็กฟุ้งกระจายอยู่
. การรวมตะกอน เป็นกระบวนการรวมตัวของของแข็งที่มีขนาดเล็กโดยมีสารเคมีเป็นศูนย์กลางทำให้อนุภาคมีขนาดโตพอที่จะตกตะกอนได้ง่าย เรียกตะกอนที่รวมตัวกันมีขนาดโตพอที่จะตกตะกอนได้ง่าย ว่าฟล็อก ( Floc )การใช้สารส้มในการสร้างตะกอน การใช้สารส้มในการทำให้สร้างตะกอนและรวมตะกอนควรให้มีพีเอชของน้ำอยู่ในช่วง 5.8 - 7.4 และควรมีค่าเป็นด่างพอที่จะทำให้เกิดการปรับพีเอชของน้ำเมื่อ พีเอชต่ำลงการใช้สารส้มจึงมีสูตรเคมีทั่วไปคือ AI2 ( SO4 )3 18H 2O
การทำลายเชื้อโรคด้วยคลอรีน
การเติมคลอรีน เป็นการใส่คลอรีนหรือสารประกอบคลอรีนลงในน้ำและน้ำเสียเพื่อการทำลาย เชื้อโรคและยังช่วยลดเหตุรำคาญอันเนื่องจากจุลินทรีย์และยังอาจช่วยออกซิไดส์เหล็กแมงกานีสในน้ำ รวมถึงสารที่ทำให้เกิดกลิ่นและรสชาติในน้ำได้อีกด้วย
วิธีและขั้นตอนการผลิตน้ำประปา
การประปาเป็นวิธีทำน้ำให้สะอาด หลักการทำน้ำประปานั้นก็เพื่อให้ได้น้ำสะอาดปลอดภัยปริมาณเพียงพอและจ่ายให้ได้ทั่วถึง โดยนำน้ำจากแหล่งน้ำผิวดินหรือน้ำบาดาลเป็นแหล่งน้ำดิบก็ได้
ขั้นตอนในการทำน้ำประปา
1. การสูบน้ำดิบ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำดิบส่งเข้าไปสู่โรงกรองน้ำ
2. การกรองน้ำ เมื่อน้ำดิบถูกส่งมายังโรงกรองน้ำ จะผ่านที่ผสมสารส้มและปูนขาว เพื่อให้สิ่งสกปรกที่ปะปนหรือผสมอยู่ในน้ำนั้นเกิดรวมตัวเป็นตะกอนเกาะ ขนาดโตขึ้นมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นและตกตะกอน และสูบน้ำที่กรองแล้วในถังน้ำใสขึ้นหอถังสูงจ่ายน้ำให้กับประชาชน
3. การจ่ายน้ำ น้ำจากถังน้ำใสจะถูกสูบขึ้นหอถังสูง หอถังสูงจะทำหน้าที่เสมือนที่เก็บน้ำและจ่ายน้ำไปตามเส้นท่อภายใต้แรงดัน