ทบทวนอนามัยสิ่งแวดล้อม

วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ความรู้พื้นฐานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม(การควบุคุมและป้องกันโรคที่เกิดจากมลพฺษทางอุตสาหกรรม)

บทที่ 10
การควบคุมโรคอันเกิดจากมลพิษของสารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม
ตอนที่ 1 มลพิษของสารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรม
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรมโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่ต้องใช้เคมีภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต ซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องกับการเก็บรักษา การผลิต การใช้ และการขนส่ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการสำหรับอันตรายของสารพิษภายในโรงงาน หากไม่มีมาตรฐานในการป้องกันอันตรายที่ดีพอ หรือเป็นเพราะคนงานขาดความรู้ ขาดความสำนึกในเรื่องอันตรายของสารพิษและละเลยข้อปฏิบัติต่าง ๆ ที่วางไว้เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน ผลที่ตามมาจะทำให้คนงานเกิดการเจ็บป่วยขึ้นดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับสารพิษที่อยู่ในโรงงานเพื่อเป็นพื้นฐานในการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นสารเคมีต่าง ๆ ในโรงงานอุตสาหกรรมและการควบคุม
1. ของแข็งแขวนลอยในอากาศ (Dust)
เมื่อผู้ปฏิบัติงานในสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่นผง(Quartz) และใยหิน(Asbestos) หายใจเข้าไปสิ่งเหล่านี้จะเข้าไปฝังอยู่ในเนื้อเยื่อปอด นานเข้าจะทำให้เกิดอาการเหนื่อย หอบ หายใจขัด เป็นสาเหตุให้เกิดโรคปอดที่เกิดฝุ่นผงดินทราย เรียกว่า ซิลิโคซีส(Silicosis) หากเกิดจากเส้นใยหิน เรียก แอสเบสโตซีส (Asbestosis) และอาจทำให้เป็นมะเร็งปอดได้ อันตรายของฝุ่นขึ้นอยู่กับขนาดของมวลฝุ่นผง เส้นใยที่แขวนลอยในอากาศ ปริมาณมวลสารที่แขวนลอยในอากาศและรูปแบบของโครงสร้าง ปริมาณมวลสารที่แขวนลอยและระยะเวลาที่ได้รับฝุ่น อุตสาหกรรมที่มีการใช้เส้นใยหินหรือแอสเบสตอส ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตกระเบื้องปูพื้นกระเบื้องปูหลังคา อุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมผลิตผ้าเบรกผ้าครัช เป็นต้น
วิธีการควบคุม
 1. ใช้การควบคุมฝุ่น เช่น มีการควบคุมการทำงานของคนงาน โดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยลดอัตราการเสี่ยงต่อการสัมผัสกับสารแอสเบสตอสของคนงานและการผลิตควรเป็นระบบปิด
2. ใช้วัสดุอื่นมาทดแทนสารแอสเบสตอส ได้แก่ สาร Manmade minual fibre เส้นใยที่นำมาใช้ทดแทนได้แก่ ใยแก้ว ใยขนสัตว์
3. ให้คนงานสวมหน้ากากและเครื่องป้องกันภัยจากการฟุ้งกระจายของสารแอสเบสตอส
4. พยายามหลีกเลี่ยงไม่ใช้สารแอสเบสตอส เป็นวัสดุก่อสร้างหรืออุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน
2. แก๊สต่าง ๆ (Gases)
2.1 แก๊สที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองและกัดกร่อน เช่น แก๊สคลอรีน (Cl 2 ) แก๊สซัลเฟอร์ได ออกไซด์(SO 2 ) หากในบรรยากาศมีแก๊สเหล่านี้ในปริมาณสูงจะก่อให้เกิดการกัดกร่อนเนื้อเยื่อปอด ดวงตาและผิวหนังได้ อุตสาหกรรมที่มีการใช้แก๊สคลอรีน เช่น อุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษฟอกขาว ส่วนซัลเฟอร์ไดออกไซด์เป็นแก๊สที่ได้จากกระบวนการเผาถ่านหิน และใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกรดซัลฟิวริก
2.2 แก๊สที่เมื่อสูดดมเข้าไปแล้วทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะภายใน
- แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO 2 ) เป็นแก๊สที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ได้จากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ต่าง ๆ เช่น รถยนต์ แก๊สนี้สามารถซึมสู่กระแสเลือดได้เร็วกว่าออกซิเจน แล้วทำให้ร่างกายมีอาการคล้ายกับขาดออกซิเจน หน้ามืดอาเจียน
- แก๊สไฮโดรเจนไซยาไนด์ แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ และแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์แก๊สเหล่านี้จะไปจับฮีโมโกลบินแทนที่ออกซิเจน ทำให้เกิดอาการคล้ายโรคโลหิตจางขึ้นชั่วคราว
3. ของเหลว (Liquids) , ไอของของเหลว (Vapour), และละออง (Mist)
3.1 ตัวทำละลาย (solvents) เป็นสารที่มีคุณสมบัติละลายสารอื่นหรือทำให้สารอื่นเจือจางได้ เช่น ละลายไขมัน หมึก น้ำมัน สี เป็นต้น สารทำละลายมีใช้มากในสารผลิตอุตสาหกรรมหลายชนิดเช่น การผลิตพลาสติกผลิตฟองน้ำ ผลิตสี ผลิตกาว ผลิตแลกเกอร์ ผลิตทินเนอร์ และอื่น ๆ
ตัวอย่างตัวทำละลายและอาการพิษ
         เบนซิน ผู้ที่ได้รับตัวทำละลายชนิดนี้จะมีอาการ เวียนศรีษะ มึนงง หายใจช้า หมดสติ ทำลายประสาทหน้าแดง พูดไม่ชัด และทำให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว
       โทลูอีน ตัวทำละลายจะทำให้เกิดอาการพิษ ดังนี้ กดสมองทำให้ปวดหัวมึนงง เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เดินเซง่วง เคืองตา เสพติด ทำให้เคลิ้ม
3.2 กรดและด่าง (Acids and Bases) จะมีความเป็นพิษดังนี้
- ทำลายผิวหนัง เนื้อเยื่อในตาเมื่ออยู่ในสภาพไอ
- กัดกร่อนระบบหายใจและปอด เช่น กรดไฮโดรคลอริก กรดโครมิก กรดไนตริกฯลฯ
- ด่างพวกโซดาไฟแอมโมเนีย เมื่อสัมผัสผิวหนังทำให้ผิวหนังไหม้ได้
อุตสาหกรรมที่มีการใช้กรดซัลฟูริก ได้แก่ ผลิตแบตเตอรี่ ผลิตโลหะสังกะสี งานชุบโลหะ
อุตสาหกรรมที่มีการใช้กรดไฮโดรคลอริก ได้แก่ อุตสาหกรรมรีดและชุบเส้นลวดเหล็ก
อุตสาหกรรมที่มีการใช้ด่าง ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตสบู่ ผงซักฟอก โรงงานหลอมโลหะ ฯลฯ
4. สารพิษจากสารโลหะหนัก (Heavy metal) ในที่นี้จะกล่าวถึงพิษสารโลหะหนักเพียง 6 ชนิด คือ ตะกั่ว ปรอท สารหนู แมงกานีส โครเมียม และแคดเมียม ดังต่อไปนี้
4.1 พิษจากตะกั่ว อุตสาหกรรมที่มีการใช้สารตะกั่ว ได้แก่ แบตเตอรี่ บัดกรีโลหะ สกัดโลหะ สายเคเบิลทำยาฆ่าแมลง เครื่องเคลือบดินเผา การผลิตสี ตัวพิมพ์ การผลิตกระสุน ฯลฯ อาการพิษของตะกั่ว คือ ปวดท้องรุนแรง มีรสหวานในปากคล้ายอมโลหะ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนชัก ปวดรอบสะดือ โลหิตจาง พบเส้นตะกั่วสีเงินบริเวณเหงือก (Lead line)
4.2 พิษจากปรอทอุตสาหกรรมที่มีการใช้ปรอท ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้า ยาฆ่าแมลง ยารักษาโรค ทำสีกระจกเงา และบรรจุในหลอดไฟหรือปรอทหรือบารอมิเตอร์ อาการพิษของปรอท คือ ทำลายไต ลำไส้ ต่อมน้ำลาย ถุงน้ำดี น้ำลายออกมาก เนื้อเยื่อในช่องปากเน่า ฟันโยกหลุดง่าย สั่นของตา ริมฝีปาก ลิ้น แขนขากระตุกหวาดกลัว เศร้าซึม ความจำเสื่อม ง่วงเหงาหาวนอน โรคสำคัญที่เกิดจากการได้รับปรอทเป็นระยะเวลานาน คือโรคมินามาตะ
4.3 พิษจากสารหนู อุตสาหกรรมที่มีการใช้สารหนู ได้แก่ หลอมโลหะ ยาปราบศัตรูพืช น้ำยาดับกลิ่นผลิตภัณฑ์รักษาเนื้อไม้ ทำแก้ว และเครื่องดินเผา อาการพิษของสารหนู คือ ระคายเคือง โรคผิวหนังตามซอกมุมต่าง ๆ เป็นตุ่มแข็งใส พอง ผิวหนังแข็งด้านโดยเฉพาะฝ่าเท้า ผิวหนังหลุดลอกคล้ายใบไม้ผลัดใบ มีจุดคล้ายเม็ดฝนที่บริเวณสัมผัส เมื่อได้รับสารหนูเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิด มะเร็งผิวหนัง มะเร็งปอดได้
4.4 พิษจากแมงกานีส อุตสาหกรรมที่มีการใช้แมงกานีส ได้แก่ ถ่านไฟฉาย ถลุงโลหะ ผลิตสี ทำสีย้อมผ้า ทำแก้วให้มีสี ฟอกหนัง ทำปุ๋ย ทำน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หล่อเหล็กเหนียว เป็นต้น อาการพิษของแมงกานีส คือ เป็นไข้ ปวดเมื่อยลำตัว ปอดอักเสบ พิการทางสมอง ไม่มีความรู้สึก หมดกำลัง มีอาการทางจิตประสาท เดินคล้ายไก่หัวซุนไปข้างหน้า กล้ามเนื้อหดเกร็ง เคลิบเคลิ้ม
4.5 พิษจากโครเมียม อุตสาหกรรมที่มีการใช้โครเมียม ได้แก่ ชุบโลหะ ผลิตยา / อาหาร อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ พิมพ์ผ้างานล้างฟิล์ม ฟอกหนัง ปูนซีเมนต์ เป็นต้น อาการพิษของโครเมียม คือ ผิวหนังอักเสบทางเดินหายใจอักเสบ จมูกโหว่ ทางเดินอาหารอักเสบ เป็นแผลที่ลำไส้ ถ้าได้รับโครเมียมเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังและปอดได้
4.6 พิษจากแคดเมียม อุตสาหกรรมที่มีการใช้แคดเมียม ได้แก่ ชุบโลหะด้วยไฟฟ้า ชุบสังกะสี ทำ
แบตเตอรี่ อุตสาหกรรมน้ำมัน ใช้ในเตาปฏิกรณ์ปรมาณู กิจการถ่ายภาพ เป็นต้น อาการพิษของแคดเมียม คือระคายเคือง อาเจียนคล้ายอาหารเป็นพิษ ตามเหงือกและฟันเป็นวงแหวนล้างไม่ออก ปัสสาวะขาวขุ่น และเกิดโรคอิไต - อิไต ถ้าได้รับแคดเมียมเป็นระยะเวลานาน ๆ
วิธีควบคุมป้องกันสารโลหะหนักในโรงงานอุตสาหกรรม
ควบคุมสภาพแวดล้อมทั่วไป ในโรงงานอุตสาหกรรมให้มีระดับของสารโลหะหนักอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย
ให้ความรู้แก่ผู้ที่ต้องสัมผัสกับสารโลหะหนัก
ผู้ประกอบการจัดให้มีการระบายอากาศเฉพาะที่ เพื่อกำจัดไอและฝุ่นสารโลหะหนักมิให้ฟุ้งกระจาย
จัดให้มีและใช้เครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคลแก่ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องหรือผู้ที่ต้องสัมผัสสารโลหะหนัก เช่น หน้ากากป้องกันฝุ่น
มีการตรวจร่างกายสุขภาพคนงานอยู่เสมอว่ามีอาการพิษของสารโลหะหนักหรือไม่ โดยดูจากปัสสาวะ , ตรวจเลือด เพื่อการเฝ้าระวังการเกิดโรคพิษสารโลหะหนักและการค้นพบโรคนี้ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก
จัดหาที่ล้างมือ ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ห้องอาบน้ำ เพื่อให้คนงานได้ล้างมือเปลี่ยนเสื้อผ้า และอาบน้ำชำระร่างกายเมื่อเสร็จจากการปฏิบัติงาน เพื่อมิให้มีการสะสมของสารโลหะหนักตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

ตอนที่ 2 การควบคุมโรคอันเกิดจากมลพิษของสารเคมีจากการเกษตรกรรม
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสารพิษในอาชีพเกษตรกรรม
สารเคมีเป็นพิษที่ใช้ในทางเกษตรมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มผลผลิตทางเกษตรเป็นหลัก แต่ควรระมัดระวังเพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ชนิดของสารพิษฆ่าแมลงย่อมมีพิษแตกต่างกันออกไปตามประเภทของสารพิษ เพราะสารพิษบางอย่างได้จากธรรมชาติบางอย่างได้จากการสังเคราะห์ สารพิษที่ใช้ในการเกษตรกรรมนั้นส่วนใหญ่จะมีอันตรายต่อสุขภาพของเกษตรกร แต่ก็มีแนวทางป้องกันและแก้ไขได้ เมื่อพูดถึงสารเคมีที่ใช้ในทางเกษตรจะหมายถึง
1. สารพิษปราบศัตรูพืช (Pesticides) ซึ่งจะรวมถึงสารพิษฆ่าแมลง (Insecticide) สารพิษปราบวัชพืช(Herbicide) สารพิษกำจัดเชื้อรา (Fungicide) สารพิษกำจัดสาหร่าย (Algaecide) สารพิษกำจัดหนูและสัตว์แทะ(Rodenticide) และรวมถึงสารพิษที่ทำลายพาหะนำโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคระบาดของพืช
2. ปุ๋ย (Fertilizer) หมายถึง สารเคมีที่ไปเร่งการเจริญเติบโตของพืช ใช้เร่งดอกและผลของพืช ซึ่งในที่นี้จะหมายถึงปุ๋ยวิทยาศาสตร์เป็นหลักใหญ่ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมยอมรับกันว่าการใช้สารเคมีในการเกษตรเป็นสิ่งจำเป็นด้วยเหตุผลก็คือ 
-สามารถใช้ป้องกันแมลงและศัตรูพืชที่จะมาทำลายต้นพืชและผลิตผลของพืชได้
 -สามารถใช้ถนอมและรักษาผลิตผลทางการเกษตรที่ต้องการจะเก็บไว้นาน ๆ ได้
-ช่วยในการเพิ่มพูนปริมาณอาหารของมนุษย์และสัตว์ และใช้เพิ่มผลิตผลทางการเกษตรได้
-เมื่อมีอาหารบริบูรณ์ สุขภาพของมนุษย์ดีขึ้น เศรษฐกิจของประเทศชาติก็ย่อมดีขึ้นด้วย
ชนิดของสารพิษและโทษของสารพิษที่ใช้ในการเกษตร
1. สารกำจัดแมลง แบ่งตามกลุ่มสารเคมี ได้แก่
1.1 กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (organophosphate) เป็นสารอินทรีย์ที่มีฟอสเฟตเป็นองค์ประกอบสำคัญเป็นสารสังเคราะห์ที่มีสูตรพื้นฐานมาจากอนุพันธ์ของกรดฟอสฟอรัส (H 3 PO 4 )สารประกอบพวกนี้ถูกนำมาใช้ทดแทนสารสังเคราะห์พวกออร์กาโนคลอรีน เนื่องจาก
- มันมีประสิทธิภาพต่อแมลงที่ดื้อยาพวกออร์กาโนคลอรีน
- เกิดการสลายตัวได้ในสิ่งที่มีชีวิต
- มีฤทธิ์ตกค้างไม่นาน จึงไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อมนานนักตัวอย่างของสารพิษฆ่าแมลงพวกนี้ ได้แก่ malathion, parathion, diaznon
ความเป็นพิษ คือ เป็นพิษต่อระบบประสาทโดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสในระบบประสาท จะมีอาการ ปวดศีรษะ วิงเวียน อ่อนเพลีย คลื่นไส้ กล้ามเนื้อกระตุก เหงื่อออกมาก ตาพร่าแน่นหน้าอก ไม่สามารถควบคุมการขับถ่าย หมดสติ
1.2กลุ่มออร์กาโนคลอรีน (organochlorine) เป็นยาฆ่าแมลงที่มีธาตุไฮโดรเจน คาร์บอนและคลอรีนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ จะมีฤทธิ์ฆ่าแมลงโดยไปทำลายระบบประสาทส่วนกลางของแมลง เป็นสารที่อยู่ตัวมากคือสลายตัวได้ยาก จึงมีพิษตกค้างอยู่ได้นานและปนเปื้อนอยู่ตามพืชผัก ผลไม้ อยู่ในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เป็นเวลานาน ๆ นับเป็นปี ๆตัวอย่างสารพิษกลุ่มนี้ ได้แก่ DDT(dichloro ciphenyl-trichloroethane), aldrin, dieldrin, lindane
ความเป็นพิษ ส่วนใหญ่ออกฤทธิ์ต่อเส้นประสาทออกซอน ทำให้ระบบสมองส่วนกลางเสียไป เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับความรู้สึก อาการที่เด่นชัดคือ ตัวสั่น ตากระตุก บุคลิกภาพเปลี่ยนไป ความจำเสื่อม
1.3กลุ่มคาร์บาเมต (carbamate) มีสูตรโครงสร้างที่มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ สารประเภทนี้ไม่ค่อยอยู่ตัวและอันตรายไม่รุนแรงนัก แต่มีฤทธิ์ฆ่าแมลงอย่างกว้างขวางตัวอย่างของสารกลุ่มนี้ ได้แก่ carbaryl, baygon, landrin
ความเป็นพิษ เป็นพิษต่อระบบประสาทโดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสในระบบประสาท จะมีอาการ คือ ปวดท้อง ท้องเสีย อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก ตาพร่า หายใจขัด กล้ามเนื้อกระตุก แขนขาเป็นอัมพาตชั่วคราว
2. สารกำจัดวัชพืช เช่น ไกลโฟเสท อะทราซีน พาราควอท ชาวบ้านมักเรียกว่ายาฆ่าหญ้าเมื่อได้รับสารพิษ จะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน กระสับกระส่าย หายใจลำบาก แสบคอ เยื่อบุปากและริมฝีปากแห้งอาจมีเลือดออกที่โคนลิ้น ร่างกายขาดออกซิเจนมีอาการตัวเขียว
3.สารกำจัดเชื้อรา เช่น ซัลเฟอร์ คอปเปอร์ ไซเนป คาร์บอกซิน เป็นต้น สารเคมีกลุ่มนี้หลายชนิดที่ไม่มีโครงสร้างทางเคมีเหมือนกัน ถึงแม้บางชนิดจะมีพิษร้ายแรงน้อยกว่า แต่มีพิษตกค้างระยะยาวในสิ่งแวดล้อมได้เหมือนกัน
4. สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช เช่น เอทธิลลีน ตามิโนโซด์
5. สารอื่น ๆ ได้แก่
                                  - สารกำจัดหนู เช่น ฟลูโดมาเฟน ราคูมิน ซิงค์ฟอสไฟด์ เป็นต้น
                                  - สารกำจัดหอย เช่น เมทัลดีไฮด์ ไบลัสไซด์ นิโคซาไมด์ เป็นต้น
                                  - สารกำจัดไรและไส้เดือนฝอย เช่น นีมาร์กอน โบโมโพรไพเลต เป็นต้น
แนวทางป้องกันและแก้ปัญหาจากอันตรายของสารเคมีจากเกษตรกรรม
1. ควรให้ความรู้แก่คนงานทุกคนถึงข้อระมัดระวังการใช้สารพิษในการเกษตร
2. แนะนำให้เกษตรกรใช้สารพิษในการเกษตรตัวอื่นที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทดแทนตัวที่มีพิษแรง ๆ หรือแนะนำให้ใช้วิธีการปราบศัตรูพืชอื่น ๆ แทนการใช้สารพิษในการเกษตร
3. ควรมีการควบคุมเกี่ยวกับสารพิษตกค้างในน้ำ อาหารและผลิตผลของทางเกษตรกร
4. ควรมีพระราชบัญญัติเกี่ยวกับสารพิษโดยเฉพาะ โดยให้คลอบคลุมถึงสุขลักษณะของผลิตผลทางเกษตร
5. ควรจัดให้มีสัมมนาเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของการใช้สารพิษฆ่าแมลงเพื่อร่วมกันคิดหาแนวทางป้องกันอื่น ๆ อีก


ความรู้พื้นฐานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม(การกำจัดแมลงและสัตว์นำโรค)

การควบคุมและป้องกันแมลงและสัตว์นำโรค
ตอนที่ 1 นิยามความหมาย ความสำคัญของแมลงและสัตว์นำโรค
แมลง หมายถึงสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ร่างกายแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้องมี 6 ขา อาจมีปีกหรือไม่มีปีกก็ได้พาหะนำโรค หมายถึงสิ่งที่เป็นตัวนำพาเอาเชื้อโรคจากสิ่งมีชีวิตหนึ่งสู่อีกสิ่งมีชีวิตหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดโรคขึ้น
Host หมายถึงที่อยู่อาศัยของพาหะนำโรคโดยที่อาจก่อหรือไม่ก่อโรคในสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ความสำคัญของแมลงและสัตว์นำโรค
1. เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคในมนุษย์ แมลงเป็นตัวนำพาเชื้อโรคจากมนุษย์หรือสัตว์ที่มีเชื้อโรคมายังมนุษย์หรือสัตว์ปกติอื่นๆ เชื้อโรคที่นำมาอาจเป็นเชื้อ แบคทีเรีย
2. เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ สาเหตุที่ทำให้มนุษย์และสัตว์เกิดความเดือดร้อนรำคาญได้แก่ การที่พาหะนำโรคมากัดทำให้เกิดแผลอักเสบหรือมีอาการแพ้ต่าง เช่น ยุงหรือตัวเรือดกัดกินเลือดทำให้เกิดผื่นคันหรือนอนไม่หลับด้วยความรำคาญ
3. เป็นสาเหตุให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ เนื่องจากแมลง เช่น หนู มากัดกินต้นข้าวของเกษตรกรตัวอย่างของแมลงและสัตว์ที่ต้องควบคุมและป้องกัน
ตอนที่ 2 ยุง (Mosquitoes)

ยุงจัดเป็นสัตว์ใน Phylum Arthropoda จัดอยู่ใน Class Insecta, Family Culicidae และ Order Diptera ยุงเป็นแมลงขนาดเล็กลำตัวยาว 3-6 มิลลิเมตร มีปีก 1 คู่ หนวดยาว ขนที่หนวดของตัวเมียสั้นกว่าตัวผู้ ปากเป็นชนิดเจาะดูด วงจรชีวิติของยุง จะมี 4 ระยะได้แก่ ระยะเป็นไข่ (egg stage) ระยะตัวอ่อน (larva stage) ระยะเป็นดักแด้(pupa stage) และระยะตัวเต็มวัย (adult stage) ซึ่งยุงจะมีวงจรชีวิต 9-14 วัน ตัวเมียอายุประมาณ 1 เดือน ตัวผู้อายุประมาณ 6-7 วัน ยุงแต่ละตัววางไข่ได้ 3-4 ครั้ง จำนวน 50-200 ฟองต่อครั้ง
ยุงที่เป็นพาหะนำโรคมาสู่มนุษย์
1. ยุงก้นปล่อง (Anopheles)
ยุงก้นปล่องอยู่ในกลุ่ม Anophelini สกุล Anopheles เป็นยุงที่นำเชื้อโรคมาลาเรียมาสู่คน โดยการกัดคนที่ป่วยเป็นโรคมาลาเรีย ซึ่งมีปรสิตอยู่ในเซลล์เม็ดเลือดแดงของคนเข้าสู่กระเพาะของยุง แล้วทำให้ปรสิตเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวน แล้วเคลื่อนที่ไปยังต่อมน้ำลายของยุง ซึ่งวงจรในการสืบพันธุ์ของโรคมาลาเรียจะเกิดอย่างสมบูรณ์ขึ้นภายในตัว
ยุง เมื่อยุงกัดคนก็จะปล่อยปรสิตของเชื้อมาลาเรียเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดของคน ทำให้คนคนนั้นเป็นโรคมาลาเรีย
วงจรชีวิตของยุงก้นปล่อง มี 4 ระยะ
ระยะเป็นไข่ การวางไข่มักจะวางไข่แบบฟองเดี่ยวในเวลากลางคืน ครั้งละประมาณ 50-150 ฟอง รูปร่างของไข่เพรียวเหมือนเรือบดมีทุ่นทำให้ลอยน้ำได้ มีสีขาวในระยะแรก ต่อไปจะเป็นสีน้ำตาลแก่และดำในที่สุด มีขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร ไข่ของยุงก้นปล่องจะกลายเป็นตัวอ่อนภายใน 1-3 วัน
ระยะเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนของยุงก้นปล่องจะมีขนที่มีลักษณะคล้ายใบตาลช่วยในการเคลื่อนที่ขึ้นอยู่ตามลำตัว ตัวอ่อนของยุงก้นปล่องจะมีการลอกคราบ 4 ครั้ง ก่อนที่จะกลายเป็นดักแด้ ระยะเวลาที่เป็นตัวอ่อนใช้เวลาตั้งแต่ 4-5 วัน ไปจนถึงหลายสัปดาห์ขึ้นอยู่กับชนิดของยุงก้นปล่องและสภาพแวดล้อมที่มันอาศัยอยู่
ระยะเป็นดักแด้ ดักแด้ของยุงก้นปล่องมีรูปร่างเหมือนจุลภาค มีส่วนหัวและอกที่โต ส่วนท้องแบ่งออกเป็น 8 ปล้อง มีความต้องการอากาศสำหรับหายใจแต่ไม่ต้องการอาหาร และจะกลายเป็นตัวแก่ในระยะเวลาประมาณ 2-3 วัน
ระยะตัวแก่ ตัวแก่ของยุงก้นปล่องจะมีจุดสีดำแต้มอยู่บนปีกเป็นหย่อม ส่วนใหญ่จะออกหากินในเวลากลางคืน
2. ยุงลาย (Aedes)
ยุงลายเป็นยุงที่อยู่ในกลุ่ม Culicine ในสกุล Aedes เป็นสาเหตุของโรคหลายอย่างเช่น โรคไข้เลือดออก โรคไข้เหลือง โรคเท้าช้าง เป็นต้น
วงจรชีวิตของยุงลาย มี 4 ระยะ
ระยะเป็นไข่ ไข่ของยุงลายจะอยู่กันแบบฟองเดี่ยว มีรูปร่างคล้ายกระสวยมีความทนทานต่อความแห้งแล้ง อาจอยู่ได้นานเป็นเดือน จนกว่าจะมีน้ำซึ่งอาจมีเพียงเล็กน้อยก็จะทำให้มันแตกตัวออกมาเป็นตัวอ่อน
ระยะเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนของยุงลายมักอาศัยตามแหล่งน้ำขังชั่วคราวหรือน้ำนิ่งที่มีความใสสะอาด เช่นแจกัน โอ่งน้ำ เป็นต้น ต้องการอากาศหายใจโดยมีท่อหายใจแบบ siphon ขนาดสั้นอยู่ที่ช่วงท้อง ปล้องที่ 8 มีการเปลี่ยนแปลงเป็น 4 ระยะเหมือนยุงก้นปล่อง
ระยะดักแด้ เป็นระยะที่ไม่กินอาหาร ต้องการอากาศหายใจโดยอาศัยท่อหายใจคล้ายรูปร่างแตรทรัมเปตแต่มีขนาดสั้น
ระยะตัวแก่ ตัวแก่ของยุงลาย จะมีลำตัว ท้อง และขามีลายดำสลับขาวยกเว้นที่ปีก ออกหากินในเวลากลางวัน ออกหากินบริเวณใกล้แหล่งกำเนิดของมัน อาจบินได้ตั้งแต่ 100 ฟุต ถึง 300 ฟุต ตัวแก่ของมันอาจมีชีวิตยืนยาวประมาณ 4 เดือน
3. ยุงรำคาญ (Culex)
ยุงรำคาญหรือบางครั้งเรียกว่ายุงบ้าน เป็นยุงที่จัดอยู่ในกลุ่มคูลิซินีหรือคิวลิซินี(Culicini) ในสกุลคิวเลกซ์ (Culex) ที่มีความสำคัญได้แก่ ยุง Culex pipiens ยุง Culex fatigans เป็นต้น เป็นพาหะนำโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Encephalitis)
วงจรชีวิตของยุงรำคาญ มี 4 ระยะ
ระยะเป็นไข่ ไข่ของยุงรำคาญมีรูปร่างคล้ายตอร์ปิโด เช่นเดียวกับไข่ยุงลายปลายข้างหนึ่งจะมีปลอกคล้ายหมวกแก๊ปหรือถ้วยครอบอยู่โดยใช้ส่วนนี้แตะกับผิวน้ำในขณะที่ลอยอยู่ในน้ำ ไข่ไม่ค่อยทนต่อความแห้งแล้ง ในระยะ 2-3 วันจะแตกตัวเป็นตัวอ่อน
ระยะเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนของยุงรำคาญมีท่อหายใจแบบ siphon ที่ยาวเรียวและมีกระจุกขนขึ้นอยู่ด้านล่างของท่อหายใจหลายจุก ตัวอ่อนไม่จับเหยื่อเป็นอาหาร
ระยะเป็นดักแด้ ดักแด้คล้ายกันกับยุงลาย
ระยะเป็นตัวแก่ ตัวแก่ของยุงรำคาญลำตัวจะมีสีดำหรือสีน้ำตาลอ่อน ปีกลำตัวหรือขาหรือส่วนอื่น ๆของร่างกายไม่มีจุดหรือแต้มที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า นอกจากมองผ่านแว่นขยาย ในขณะดูดเลือดจะมีส่วนของลำตัวขนานกับพื้นผิว ส่วนใหญ่ออกหากินในเวลากลางคืนเพราะไม่ชอบแสงสว่าง
4. ยุงเสือ (Mansonia)

ยุงเสือหรือบางทีเรียกว่ายุงป่าเพราะมีความดุร้าย จะดูดกินอย่างหิวกระหายอยู่ตลอดเวลา จัดอยู่ในสกุลแมนโซเนีย (Mansonia) เป็นพาหะนำโรคเท้าช้าง ซึ่งยุงเสือนี้ถือเป็นโฮสต์กึ่งกลางของหนอนพยาธิ Brugia malayi และ Wuchereria brancrofti ที่ทำให้คนเกิดโรคเท้าช้าง นอกจากนี้ยังทำให้เกิดโรคไข้เหลือง และไข้สมองอักเสบ ยุงในสกุลนี้ที่มีความสำคัญได้แก่ Mansonia uniformis, Mansonia bonnae, และ Mansonia annulata เป็นต้น
วงจรชีวิตของยุงเสือ มี 4 ระยะ
ระยะเป็นไข่ ไข่ของยุงเสือมีลักษณะคล้ายกระสวยรวมเป็นแพติดอยู่กับวัชพืช มักอยู่ใต้ท้องใบของพืชหรือลอยอยู่เหนือน้ำ
ระยะเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนของยุงเสือมีความต้องการอากาศหายใจโดยผ่านท่ออากาศที่ถูกดัดแปลงให้สามารถเจาะพืชหรือรากพืชและรับอากาศจากพืชที่เกาะติดอยู่ จึงไม่ต้องลอยสู่ผิวน้ำเพื่อหายใจ แต่การลอกคราบเป็นดักแด้ต้องลอยขึ้นเหนือผิวน้ำ
ระยะเป็นดักแด้ ดักแด้ของยุงเสือคล้ายกับดักแด้ของยุงชนิดอื่น เพียงแต่มีความแตกต่างกันตรงที่สามารถเจาะพืชหรือรากพืชและรับอากาศจากพืชที่เกาะติดอยู่ จึงไม่ต้องลอยสู่ผิวน้ำเพื่อหายใจ
ระยะเป็นตัวแก่ ตัวแก่ของยุงเสือมีสีดำหรือสีน้ำตาล ลำตัวและขามองดูเป็นแถบสลับสีเข้มและจางเกิดจากเกล็ดสีขาวและสีดำ มีเกล็ดคล้ายหัวใจกระจายอยู่ที่ปีกของยุง มักออกหากินตอนกลางคืน ส่วนใหญ่ออกหากินนอกบ้าน แต่ก็อาจหากินในบ้านที่พักอาศัยได้
การควบคุมและป้องกันยุง
             การควบคุมไม่ให้มียุงเกิดขึ้นในโลกเลยถือว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยากหรืออาจกล่าวได้ว่าไม่สามารถทำได้ อาจเป็นเพราะว่ายุงมีการแพร่พันธุ์ได้ง่ายและครั้งละปริมาณมาก และชอบออกหา กินตอนกลางคืนเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้การดำเนินการกำจัดไม่ให้มียุงนั้นเป็นไปไม่ได้ จึงกระทำได้เพียงควบคุมไม่ให้มียุงปริมาณมากและป้องกันไม่ให้ยุงกัด ซึ่งมีวิธีการดังต่อไปนี้
1. การควบคุมยุงในบ้านหรือที่พักอาศัย
คือการที่ป้องกันไม่ให้มีแหล่งเพะพันธุ์ของยุงภายในตัวที่พักอาศัย ซึ่งแหล่งที่มักพบการเพาะพันธุ์ของยุงได้แก่ถังเก็บน้ำ โอ่งน้ำ ขวดน้ำ แจกัน ขารองตู้กับข้าว ถาดรองกระถางต้นไม้ เป็นต้น นอกจากนี้ต้องมีการควบคุมไม่ให้มียุงเข้ามาในบ้านได้แก่การติดมุ้งลวด การใช้ยาฆ่าแมลงเพื่อไม่ให้ยุงมารบกวน
2. การป้องกันยุงบริเวณบ้านหรืออาคารที่พักอาศัย
บริเวณอาคารหรือที่พักอาศัยอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงซึ่งเป็นพาหะนำโรคมาสู่เรา ดังนั้นจึงต้องมีการควบคุมไม่ให้มียุงหรือมีน้อยที่สุด ได้แก่ การคว่ำภาชนะทุกชนิดที่ยุงจะสามารถวางไข่ได้ มีการกำจัดขยะมูลฝอยบริเวณอาคารหรือที่พักอาศัยให้สะอาด ภาชนะที่ใส่น้ำไม่ว่าจะเป็นโอ่งน้ำ ถังน้ำ ต้องมีฝาปิดให้มิดชิด หรือถ้าเป็นสระน้ำหรือบ่อน้ำสวนหย่อมในอาคาร อาจเลี้ยงปลาหางนกยุงเพื่อกินลูกน้ำก็ได้ นอกจากนี้อาจใช้ยาฆ่าแมลงช่วยเพื่อกำจัดและไล่ยุงไม่ให้เข้ามาในบริเวณอาคารหรือที่พักอาศัย
3. การป้องกันและควบคุมยุงในชุมชน
การป้องกันยุงในชุมชนนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะยุงสามารถบินได้ไกลจากแหล่งกำเนิดของมัน ถ้าไม่ร่วมมือกัน ทั้งชุมชนก็ไม่สามารถที่จะลดจำนวนของยุงได้ซึ่งที่เพาะพันธุ์ของยุงในชุมชนได้แก่ หนอง คลอง บึงแม่น้ำ ลำธาร เป็นต้น ซึ่งชุมชนต้องมีการถ่ายเทและไหลเวียนน้ำเป็นประจำเพื่อไม่ให้ยุงวางไข่ได้ สำหรับแหล่งน้ำที่มีขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนชลประทาน อ่างเก็บน้ำ เป็นต้น จะต้องมีประตูน้ำเพื่อการปรับระดับน้ำในแหล่งน้ำไม่ให้เกิดน้ำนิ่ง ถ้าแหล่งน้ำไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ ต้องทำการถมเพื่อไม่ให้มีน้ำขัง นอกจากนี้ระบบประปาในชุมชนต้องป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วซึมของท่อ เพื่อไม่ให้เกิดการเฉอะแฉะเป็นที่เพาะพันธุ์ของยุง

ตอนที่ 3แมลงวัน (Flies)
แมลงวันจัดอยู่ใน Phylum Arthropoda จัดอยู่ใน Class Insecta Order Diptera และ Suborder Cyclorrhapha มีการเจริญเติบโตเป็น 4 ระยะ เช่นเดียวกับยุง คือ ระยะ ไข่ ตัวอ่อน ดักแด้ และตัวแก่ ถ้าอยู่ในสภาวะที่เหมาะสมแมลงวันจะวางไข่ครั้งละ 100-150 ฟอง แมลงวันมีปาก 2 แบบคือ แบบที่ใช้ดูด ได้แก่แมลงวันคอก และแบบที่ใช้ขูดหรือครูด ได้แก่แมลงวันบ้าน เป็นต้น แมลงวันที่เป็นปัญหาต่อการสาธารณสุขคือแมลงวันบ้าน และแมลงวันหัวเขียว
1.แมลงวันบ้าน ( House Flies )
แมลงวันบ้านที่พบมากที่สุดคือ Musca domestica แมลงวันบ้านเป็นแมลงที่พบได้ทั่วโลกยกเว้นบริเวณที่มีอากาศหนาวจัด ซึ่งเป็นพาหะนำโรคหลายชนิด ได้แก่อหิวาตกโรค ไข้รากสาด บิด เป็นต้น และเป็น Intermediate host ของหนอนพยาธิบาง
ชนิด ซึ่งแมลงวันนำเชื้อโรคมาสู่คนได้โดย การสำรอกน้ำย่อยและน้ำลายออกมาปนเปื้อนอาหารของมนุษย์ จึงทำให้เป็นโรค
วงจรชีวิตของแมลงวันบ้าน
ระยะเป็นไข่ แมลงวันบ้านมักจะวางไข่ตามมูลสัตว์ สิ่งปฏิกูล มูลฝอยเปียก น้ำเสีย และสารอินทรีย์เน่าเปื่อยอื่น ไข่มีรูปร่างเป็นวงรี สีขาวนวล ขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร ถ้าหากอากาศอบอุ่นจะแตกตัวออกเป็นตัวอ่อนภายใน 1/2-1 วัน
ระยะตัวอ่อน ตัวอ่อนของแมลงวันบ้านมีรูปร่างทรงกระบอกปลายข้างหนึ่งเป็นรูปกรวย ยาวประมาณ10-12 มิลลิเมตร ตัวอ่อนลอกคราบ 3 ครั้ง ถ้าอากาศอบอุ่นภายในเวลา 4-7 วัน มันจะคลานออกมาจากสิ่งปฏิกูลตกลงสู่พื้นกลายเป็นดักแด้
ระยะดักแด้ ดักแด้ของแมลงวันบ้านมักอยู่ในที่สงบ เช่น ในดิน กองเศษไม้ใบหญ้า เป็นต้น ไม่มีการเคลื่อนไหวไปไหน อายุการเป็นดักแด้ขึ้นอยู่กับภูมิอากาศ ถ้าอากาศอบอุ่นเป็นเวลา 3 วันก็จะลอกคราบกลายเป็นดักแด้ แต่ถ้าอากาศเย็นอาจนานถึง 26 วัน จึงจะกลายเป็นตัวแก่
ระยะตัวแก่ ตัวแก่ของแมลงวันบ้านตัวผู้มีลำตัวยาวประมาณ 5.8-6.5 มิลลิเมตร ตัวเมียยาวประมาณ 6-9มิลลิเมตร มีสีเทาหม่น มีหนวดเส้นเล็ก 2 เส้น สำหรับรับความรู้สึก มีปีก 2 คู่ มีลักษณะใสไม่มีเกล็ด มีขา 3 คู่ส่วนท้องและอกมีสีเหลืองปนเทา มีรอยเส้นตามยาวแคบ อยู่ 4 เส้น สามารถบินได้ไกลจากแหล่งกำเนิดในระยะประมาณ 6 ไมล์ ภายใน 24 ชั่วโมง แต่โดยทั่วไปมักบินวนหากินในระยะ 100-500 เมตร ตัวแก่ของแมลงวันบ้านมีอายุประมาณ 1 เดือน
2. แมลงวันหัวเขียว (Blow Flies)
มี 2 พันธุ์ คือแมลงวันหัวเขียวที่มีสีของลำตัวเป็นเขียวมันแวววาว (Chrysomyia) และอีกพันธุ์หนึ่งมีสีของลำตัวเป็นสีน้ำเงินเงาและวาว (Calliphora) แมลงวันหัวเขียวจะวางไข่บนสิ่งสกปรกเน่าเหม็น เช่น ซากสัตว์ ในช่วงชีวิตของมันสามารถวางไข่ได้ประมาณ1,000-3,000 ฟอง โดยวางไข่ครั้งละ 50-150 ฟอง มีการแพร่พันธุ์ได้ 9-10 ครั้งตัวแก่มีอายุ ประมาณ 1 เดือน
วงจรชีวิตของแมลงวันหัวเขียว
ระยะเป็นไข่ แมลงวันหัวเขียวจะวางไข่เป็นกระจุกหรือเป็นกลุ่มบนซากสัตว์ หรือ บางครั้งอาจพบในเนื้อสด ไข่จะมีสีเหลืองอ่อน ภายในเวลา 8 ชั่วโมง ถึง 3 วัน จะแตกออกมาเป็นตัวอ่อนระยะตัวอ่อน มีขนาดความยาวประมาณ 10-14 มิลลิเมตร มีสีเทาปนเหลือง ด้านหน้าสุดจะมีตาขออยู่ 1 คู่ส่วนท้ายของลำตัวมีลักษณเป็นป้านและกว้าง ตัวอ่อนของมันแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ มีขน และไม่มีขน ใช้เวลา 2-19วัน ขึ้นกับอุณหภูมิ จึงจะกลายเป็นดักแด้โดยการตกลงสู่พื้นแล้วชอนไชหาสถานที่แห้งแล้งทำการฝังตัวใต้ดินระยะดักแด้ ดักแด้ของแมลงวันหัวเขียวมีลักษณะคล้ายตัวอ่อน แต่มีขนาดใหญ่กว่า ปลาย 2 ข้างมีลักษณะมน
ระยะตัวแก่ ตัวแก่ของแมลงวันหัวเขียวมีความแตกต่างกันตามสกุล และชนิด แต่โดยทั่วไปส่วนอกและส่วนท้องมีสีน้ำเงินหรือสีเขียวเหลือง บางชนิดอาจมีสีเขียวปนโลหะ หรือสีบรอนซ์ แวววาว
3. แมลงวันลายเสือ (Sacophaga)
ลักษณะลำตัวมีสีเทาแถบสีดำบนส่วนอก 3 แถบ ที่ส่วนท้องจะมีลายหมากรุกขนาดตัวแก่ 10 – 16 มม. ไม่วางไข่แต่ไข่จะฟักเป็นตัวหนอนในท้องแล้วออกลูกเป็นตัวหนอนครั้งละ 2 – 3 ตัว
การควบคุมและป้องกันแมลงวัน
แมลงวันเป็นพาหะนำโรคร้ายแรงหลายชนิดมาสู่มนุษย์ และนำสิ่งสกปรกมาปนเปื้อนอาหารโดยขาของมัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายของแมลงวัน ซึ่งมีหลักการดังต่อไปนี้การควบคุมแมลงวันภายในอาคารและที่พักอาศัย
1. การกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลภายในอาคารและที่พักอาศัยให้สะอาด เช่น ถังขยะภายในห้องครัวของบ้านหรืออาคารควรมีฝาปิดให้มิดชิดไม่รั่วซึม
2. การใช้กลวิธีทางกายภาพ เช่น ประตูหน้าต่าง ต้องมีตระแกรงหรือมุ้งลวดไว้เพื่อไม่ให้แมลงวันเข้าบ้าน ทำลายโดยใช้กาวดักแมลงวันตัวแก่ หรือในห้องครัวต้องมีตู้หรือฝาชีครอบอาหารเพื่อป้องกันแมลงวันเป็นต้น
3. การใช้วิธีทางเคมีโดยการใช้ยาฆ่าแมลงวันตัวอ่อน และตัวแก่ เช่น 0.1% ของไพรีทัมผสมกับ 1% ของมาลาไทออน
การป้องกันและควบคุมแมลงวันในชุมชน
การบำรุงรักษาความสะอาดในสถานที่ต่าง เช่นการดูแลรักษาความสะอาดของร้านอาหารให้สะอาดเรียบร้อย ไม่มีเศษอาหารที่เป็นตัวนำให้มีแมลงวัน
การมีระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลที่ดี เช่นหลุมเก็บกักสิ่งปฏิกูลต้องปิดมิดชิดท่อระบายน้ำ ควรมีตระแกรงครอบขนาด16 mesh เพื่อไม่ให้แมลงวันสามารถเข้าไปได้

ตอนที่ 4 แมลงสาบ (Cockroaches)

แมลงสาบ ( Cockroaches) แมลงสาบจัดอยู่ใน Class Insecta , Oder Blattaria, Family Blattidae ขนาดแตกต่างขึ้นกับชนิดของมัน ยาวตั้งแต่ 10-50 มิลลิเมตร แมลงสาบที่พบและเป็นพาหะนำโรคมี 4 ชนิด ได้แก่แมลงสาบเอเชียหรือแมลงสาบตะวันออก แมลงสาบอเมริกัน แมลงสาบเยอรมัน และแมลงสาบลายน้ำตาลแมลงสาบเอเชียหรือแมลงสาบตะวันออก (Oriental cockroach)พบได้ทั่วโลก มักอาศัยอยู่ตามฐานเขื่อน หรือใต้พื้นอาคาร ตัวยาวประมาณ 22-27มิลลิเมตร มีปีกสั้นบินไม่ได้ ตัวแก่มีสีน้ำตาลหรือดำ มีลายสีเหลืองและขาวบนส่วนอกและขอบด้านนอกของส่วนท้อง
แมลงสาบอเมริกัน (American cockroach)
พบมากที่สุดในประเทศไทย มีความยาวประมาณ 1.5-2 นิ้ว ตัวแก่มีสีน้ำตาลแดงไปจนถึงน้ำตาลดำ ปกติบินไม่ได้แต่อาจบินได้ในระยะใกล้ อาศัยตามท่อระบายน้ำเสียอุโมงค์น้ำ ห้องน้ำห้องส้วม และห้องใต้ดินหรือใต้ถุนตึก มักอาศัยอยู่กันเป็นกลุ่มหรือเป็นกอง
แมลงสาบเยอรมัน (German cockroach)
เป็นแมลงสาบที่มีขนาดเล็กกว่า 2 ชนิดที่ได้กล่าวมาแล้ว มีขนาดความยาวประมาณ 1/2- 6/10 นิ้ว มีสีน้ำตาลแก่มีแถบสีน้ำตาลอ่อนบนส่วนอก 2 แถบ มีตาขนาดใหญ่ มีแส้ 1 คู่มักอาศัยอยู่ใกล้ชิดมนุษย์ในที่ที่มีความอบอุ่นและความเปียกชื้น เช่น ในห้องครัว ตู้เสื้อผ้า เป็นต้น
แมลงสาบลายน้ำตาล (Brown-banded cockroach)
พบได้ทั่วโลก มักอาศัยอยู่ในเขตอบอุ่น มีขนาดเล็กประมาณ 1-1.25 นิ้ว มีสีน้ำตาลแดงอ่อน พบได้ทุกแห่งของบ้าน เป็นแมลงสาบที่ค่อนข้างเกียจคร้านวงจรชีวิตของแมลงสาบวงจรชีวิตของแมลงสาบมี 3 ระยะ คือ ระยะเป็นไข่ ระยะเป็นตัวอ่อน และระยะเป็นตัวแก่ ไข่ของแมลงสาบจะอยู่ในแคปซูลเรียก “ oothecae “ มักเก็บไข่ไว้ในสถานที่อบอุ่น แมลงสาบสามารถกินอาหารได้ทุกชนิด ได้แก่เมล็ดพืช แป้ง ไขมัน ขนม สิ่งปฏิกูล ซากสัตว์ กระดาษ กาว เลือดแห้ง เสมหะ เป็นต้น และในระหว่างที่มันกินอาหารมันจะสำรอกเอาของเหลวสีน้ำตาลออกมาปนเปื้อนกับอาหารทำให้มีกลิ่นเหม็น มักออกหากินในเวลากลางคืนและไม่ชอบแสงสว่าง
การควบคุมและป้องกันแมลงสาบ
แมลงสาบก็เป็นพาหะนำโรคเช่นเดียวกับแมลงวันและยังทำให้เกิดการปนเปื้อนสิ่งสกปรกสู่อาหารที่มนุษย์ต้องการใช้บริโภค รวมถึงทำความเสียหายให้แก่ เครื่องใช้ เสื้อผ้า ข้าวของต่าง เป็นต้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการควบคุมและป้องกันแมลงสาบ ซึ่งมีวิธีดังต่อไปนี้
1. การป้องกันไม่ให้แมลงสาบเข้าสู่ตัวอาคาร เช่นการมีมุ้งลวดหรือตระแกรงป้องกันไม่ให้แมลงสาบ
เข้ามา
2. การควบคุมแมลงสาบภายในอาคารหรือที่พักอาศัย เช่น การใช้กาวดักแมลงสาบ ใช้ยาฆ่าแมลง การซ่อมแซมรอยรั่วของบ้านเรือนเพื่อทำลายแหล่งที่อยู่ของแมลงสาบ การเก็บสิ่งของหรืออาหารให้มิดชิด เป็นต้น

ตอนที่ 5 เห็บ ( Ticks )

เห็บเป็นปรสิตชนิดใช้ปากดูดเลือดมนุษย์และสัตว์ อยู่ใน Class Arachnida มีลักษณะแตกต่างจากแมลงคือ ลำตัวแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนหัวและส่วนอกรวมกันเป็นส่วนเดียว เรียกว่า Cephalothorax และมีส่วนท้องแยกจากกัน บางชนิดมีส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้องติดกัน ไม่มีหนวด มีขา 4 คู่ รูปร่างค่อนข้างกลม
วงจรชีวิตของเห็บ
จะมี 3 ระยะ คือ ระยะเป็นไข่ ระยะเป็นตัวอ่อน และระยะเป็นตัวแก่ กินเวลาประมาณ 2-3 ปี ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่มันอยู่ เห็บทุกตัวก่อนที่จะผสมพันธุ์กันจะต้องเกาะดูดเลือดโฮสต์เสียก่อน แล้วจึงไปวางไข่นอกโฮสต์ ส่วนใหญ่วางไข่บนดิน การวางไข่ของเห็บบางชนิดจะวางไข่ติดต่อกันหลายสัปดาห์จนไข่หมด จะวางไข่ได้หลายพันฟองโดยเฉพาะเห็บแข็ง เมื่อวางไข่หมดแล้วก็จะตาย ส่วนเห็บอ่อนจะวางไข่หลายครั้ง ละประมาณ90-100 ฟอง ไข่เห็บจะถูกเคลือบด้วยขี้ผึ้งป้องกันการระเหยของน้ำและทำให้ไข่เกาะกลุ่มกัน
การควบคุมและป้องกันเห็บ
การควบคุมและป้องกันเห็บ ทำได้โดยการตัดวงจรชีวิตของมัน ได้แก่ การแยกโฮสต์ออกจากเห็บ การทำความสะอาดคอกเลี้ยงสัตว์ การทำลายวัชพืชในคอกสัตว์ การใช้ยาฆ่าแมลง เช่น ใช้ผงมาลาไทออน 4 % ทำความสะอาดเสื้อผ้าอยู่เสมอ เป็นต้น

ตอนที่ 6 หนู
หนูเป็นสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม อยู่ใน Oder Rodentia มีวงจรชีวิต 3-4 เดือน มีฟันแหลม 2 คู่ ซึ่งฟันของหนูจะมีการงอกอยู่ตลอดเวลา หนูมีการแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว ซึ่งอายุประมาณ 3-4 เดือนก็สามารถแพร่พันธุ์ได้หนูเป็นสัตว์แทะที่ชอบออกหากินในเวลากลางคืน ซึ่งหนูที่มีความสำคัญต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์มี 3 ชนิดคือ หนูนอเวย์ หนูหลังคา และหนูหริ่ง ซึ่งหนูเป็นสัตว์ที่นำโรคมาสู่มนุษย์ เช่น กาฬโรค มูรีนไทฟัสSalmonellosis นำเชื้อโรค Leptospirosis ไข้หนูกัด ( rat-bite fever ) นอกจากนี้ยังปล่อยของเสีย ทำให้เป็นแหล่งของพยาธิด้วย เป็นต้น
1. หนูนอเวย์ (Norway rat หรือ Rattus norvegicus )
เป็นหนูที่มีขนาดใหญ่ มีจมูกป้าน ส่วนหางยาวประมาณ 15-22 เซ็นติเมตร ลำตัวอ้วนมีน้ำหนักมากกว่าหนูหลังคา ตาและจมูกเล็ก มีขนหยาบสีน้ำตาลปนเทา ส่วนท้องสีเทาอาศัยตามรูที่ขุดไว้ในดิน หรือช่องว่างตามผนังและพื้น
2. หนูหลังคา (Roof rat หรือ Rattus rattus )
บางทีเรียกหนูท้องขาวเพราะมีขนสีขาวปนเทาหรือครีมใต้ท้อง มีจมูกแหลม ตาและหูใหญ่กว่าหนูนอเวย์ ลำตัวเพรียว หางยาว 18.8 เซ็นติเมตร จะยาวกว่าส่วนหัวและลำตัวรวมกัน มักอาศัยตามช่องว่างหลังคาหรือเพดาน อาจทำรังอยู่นอกบ้านตามใบไม้ใบหญ้า
3. หนูหริ่ง (House mouse หรือ Mus musculus)
เป็นหนูที่มีขนาดเล็กที่สุด มีน้ำหนักตัวประมาณ 10-15 กรัม ส่วนหัวและลำตัวยาวประมาณ 7.5 เซ็นติเมตร หางจะยาวกว่าส่วนหัวและลำตัวรวมกันเล็กน้อย ขนด้านหลังมีสีเทาหรือสีเทาปนน้ำตาล ขนส่วนท้องมีสีขาว
การควบคุมและป้องกันหนู
1. การควบคุมป้องกันหนูในบ้านพัก ได้แก่ การเก็บอาหารให้มิดชิด เก็บมูลฝอยที่เปียกในภาชนะที่ทนต่อการกัดแทะของหนู เก็บผ้า กระดาษ ในที่ที่หนูไม่สามารถกัดแทะได้ อุดรูรั่วผนังในที่พักอาศัยเพื่อทำลายที่อยู่ของหนู เป็นต้นนอกจากนี้อาจมีการสร้างเครื่องกีดขวางทางเดินของหนูตามสายไฟในที่พักอาศัย หรือการติดตั้งมุ้งลวดบ้านพักก็สามารถช่วยป้องกันหนูได้
2. การควบคุมป้องกันหนูในชุมชน ได้แก่ การออกกฎหมายหรือข้อบังคับ เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงการดูแลบ้านและสถานที่สาธารณะให้สะอาด สร้างเครื่องป้องกันหนู ในโกดัง ร้านอาหาร โรงเรียนโรงพยาบาล เป็นต้น ใช้ยาฆ่าหนูในรูปของเหยื่อล่อ เช่น การใช้ แอนติโคแอกกลูแลนท์ ซึงเมื่อหนูกินเข้าไปเป็นระยะเวลาหลายวัน หนูก็จะตกเลือด และตายในที่สุด การใช้ Red Squill เป็นสารเคมีที่สกัดจากหัวของพืชตระกูลลิลลี่ คือ Urginea martima ใช้ได้เพียงครั้งเดียวและใช้ได้ผลกับหนูนอเวย์เท่านั้น และจะตายอย่างรวดเร็ว การใช้Sodium Fluoroacetate และ Fluoroacetamide ซึ่งสารฆ่าหนูทั้ง 2 ชนิดนี้สามารถฆ่าหนูได้ภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังจากกินเข้าไป โดยสารนี้จะทำให้หัวใจและระบบประสาทเกิดอัมพาต เป็นต้น