ทบทวนอนามัยสิ่งแวดล้อม

วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ความรู้พื้นฐานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม(การจัดการที่อยู่อาศัย)

1.คำนิยามเกี่ยวกับที่พักอาศัย
ที่อยู่อาศัย หมายถึง อาคารบ้านเรือน รวมถึงตึก โรง และแพที่มนุษย์จัดสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยทั้งกลางวันและกลางคืน ภายในที่อยู่อาศัยประกอบด้วยสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องการมีทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกสบายอุปกรณ์และสิ่งที่ใช้สอยที่จำเป็นตามความต้องการทางด้านร่างกาย จิตใจ และความเป็นอยู่ที่ดีงามทั้งส่วนตัวและครอบครัวของผู้พักอาศัย
สถาบัน หมายถึง อาคารสถานที่สร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นที่ทำการซึ่งกำหนดให้เป็นที่ชุมชน จึงเป็นอาคารที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน หรือสถานศึกษา หอประชุม โรงมหรสพ โรงพยาบาล โรงแรม และเรือนจำเป็นต้น
การสุขาภิบาลที่อยู่อาศัยและสถาบัน หมายถึง การจัดการและควบคุมดูแลที่อยู่อาศัยหรือสถาบันให้สะอาดถูกสุขลักษณะ โดยจัดการให้ได้ตามความต้องการขั้นมูลฐานทั้งทางร่างกาย จิตใจ และจัดให้ปลอดภัยจากการเกิดอุบัติเหตุและการเกิดโรคระบาดในผู้พักอาศัยหรือผู้ใช้บริการด้วย
2. ความจำเป็นที่ต้องจัดการสุขาภิบาลที่อยู่อาศัยและสถาบัน
2.1ความจำเป็นที่ต้องจัดการสุขาภิบาลที่อยู่อาศัย
              ที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยสำคัญของมนุษย์ที่ทุกคนเกิดมาจะต้องมีเพื่อเป็นที่พักผ่อนนอนหลับหรืออยู่กินเป็นประจำของตนเองและครอบครัว โดยที่อยู่อาศัยที่ดีสะอาดและถูกสุขลักษณะตามหลักสุขาภิบาล จะช่วยส่งเสริมให้ผู้อาศัยมีความสุขและสบายทั้งร่างกายและจิตใจ ปลอดภัยจากการเกิดอุบัติเหตุและโรคติดต่อที่เกิดจากที่พักอาศัยเป็นสาเหตุได้
2.1.1 ลักษณะความบกพร่องของที่อยู่อาศัย
             ในแต่ละแห่งซึ่งเป็นข้อบกพร่องพื้นฐานทางด้านการสุขาภิบาลที่สำคัญคือ
. น้ำดื่ม น้ำใช้ไม่สะอาด ไม่เพียงพอ
. ห้องน้ำห้องส้วมอยู่นอกอาคารและใช้รวมกับเพื่อนบ้าน
. มีสถานที่อาบน้ำรวมกับผู้อื่น
. มีห้องพักรวมกันอยู่หลายคน
. พื้นที่ห้องนอนแคบ
. อาคารบ้านพักอาศัยมีทางออกทางเดียว
. ไม่มีไฟฟ้าใช้ แสงสว่างไม่เพียงพอ
. ห้องไม่มีหน้าต่าง และที่ระบายอากาศ
. ที่พักอาศัยมีสภาพทรุดโทรม บริเวณบ้านสกปรก มีน้ำขัง
2.1.2 หลักการที่สำคัญในการจัดที่อยู่อาศัยให้ถูกสุขลักษณะ มี 4 อย่าง ดังนี้
. จัดที่อยู่อาศัยให้ตามตามความต้องการของร่างกาย
. จัดที่อยู่ให้ได้ตามความต้องการทางจิตใจ
. จัดที่อยู่ให้ผู้อาศัยมีความปลอดภัย
. จัดที่อยู่อาศัยมีความปลอดภัยจากโรคติดต่อ
2.2 ความจำเป็นที่ต้องจัดการสุขาภิบาลสถาบัน
             เนื่องจากสถาบันที่ใช้ประกอบการหรือทำการเพื่อจัดบริการบางอย่างตามกำหนด จึงย่อมประกอบด้วยผู้ให้และบริการ และผู้รับบริการ สถาบันจึงมีบุคคลมากมาย ย่อมจะมีปัญหาต่าง ๆ ตามมา ที่สำคัญคือ ทุกคนมีความต้องการความสะดวกสบายทั้งร่างกายและไม่ต้องการได้รับทุกข์ โดยเหตุนี้สถาบันจะต้องจัดให้อยู่ในสภาพที่สะอาดปลอดภัยต่อการแพร่กระจายเชื้อโรคอุบัติเหตุ และอันตรายที่เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ภายในอาคารควรจัดให้มีการส่งเสริมสุขภาพอนามัยให้แก่บุคลากรต่าง ๆ ด้วย
3. ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการสุขาภิบาลที่อยู่อาศัยและสถาบัน
1.ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการสุขาภิบาลที่อยู่อาศัย
1.1 สภาพของที่อยู่อาศัยโดยทั่ว ๆ ไปส่วนใหญ่ไม่ถูกสุขลักษณะ ทั้งในด้านแสงสว่าง การระบายอากาศ และขาดสิ่งอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการสุขาภิบาลในบ้านพัก เช่น การประปา ไฟฟ้า การจัดการขยะมูลฝอย น้ำโสโครก แมลง การมีส้วมใช้ ตลอดจนความสะดวกสบายและความปลอดภัย
1.2 สภาพทางสังคม สภาพทางสังคมบางอย่างเป็นสาเหตุของปัญหาและเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหา เช่น ความยากจนของประชาชน การอพยพย้ายถิ่น การจัดบริการที่อยู่อาศัยโดยรัฐและเอกชนยังจัดทำได้ไม่ทั่วถึง การจัดบริการด้าน ประปา ไฟฟ้า ถนน รัฐยังจัดให้มีได้น้อยมาก ความเคยชินของประชาชนบางอย่างทำให้ขาดความสนใจในการสุขาภิบาลที่อยู่อาศัย ในด้านมาตรการทางกฎหมาย การวางผังเมืองทั้งชุมชนในเมืองและชนบทยังไม่มี
2.ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการสุขาภิบาลสถาบัน
2.1 การออกแบบและการก่อสร้างสถาบันบางแห่งไม่ถูกสุขลักษณะ ปัญหานี้เกิดจากผู้ออกแบบและการก่อสร้างขาดความสนใจหรือไม่ให้ความสำคัญของการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม
2.2 ผู้บริหารหรือผู้รับผิดชอบสภาบันขาดความสนใจ
2.3 ขาดการวางผังเมืองที่ถูกต้องหรือไม่มีการวางผังเมืองในชุมชน ทำให้ที่ตั้งของสถาบันไม่เหมาะสม
2.4 ขนาดของสถาบันไม่เหมาะสมกับกิจการ เช่น เล็กเกินไปไม่พอเพียงหรือไม่เหมาะสมกับผู้มาใช้บริการ ทำให้คับแคบ แออัด
2.5 มาตรการทางกฎหมายยังมีข้อบกพร่อง และมีการปล่อยปละละเลยกันมาก
2.6 การจัดบริการสถาบันต่าง ๆ เช่น สถาบันทางการศึกษา การรักษาพยาบาลนั้นรัฐบาลจัดบริการได้ไม่ทั่วถึงและไม่เพียงพอ

ตอนที่ 2.2 หลักการจัดการสุขาภิบาลที่อยู่อาศัย
หลักการจัดการสุขาภิบาลที่อยู่อาศัย
1) การจัดที่อยู่อาศัยให้ได้ตามความต้องการขั้นมูลฐานทางร่างกาย ที่สำคัญได้แก่ การระบายอากาศ แสงสว่าง การปราศจากเหตุรำคาญ พื้นที่บริเวณบ้านหรือที่อยู่อาศัย
2) การจัดที่อยู่อาศัยให้ได้ตามความต้องการทางจิตใจ ที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขลักษณะจะต้องมีสภาพที่ช่วยส่งเสริมผู้อาศัยให้มีความสุขสบายทางจิตใจ ความต้องการทางด้านจิตใจของผู้อยู่อาศัยแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกันไป แต่ความสบายใจนั้นส่วนใหญ่เกิดจากสภาพแวดล้อมในที่อยู่อาศัย ความต้องการขั้นพื้นฐานทางด้านจิตใจของผู้อาศัยที่สำคัญ คือ ความเป็นสัดส่วนของที่อยู่อาศัยและความเป็นอิสระและควรอยู่ห่างจากสิ่งรบกวน ห้องนอนควรจัดให้พอเหมาะไม่แออัด ความสวยงามและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ควรมีลักษณะที่น่าดู สวยงาม จึงจะทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความสุขสบายในจิตใจ ความสะอาดที่อยู่อาศัยเป็นสิ่งที่ทุกคน ปารถนาเพราะทำให้เกิดความสบายใจและสบายตาเมื่อพบเห็น รวมทั้งของเสียจะต้องได้รับการจัดเก็บให้เรียบร้อย จัดให้มีความสะดวกสบายแก่ผู้อยู่อาศัย ที่อยู่อาศัยควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกตามความจำเป็นขั้นมูลฐานด้านต่าง ๆ
3) การป้องกันอุบัติเหตุในที่อยู่อาศัยอุบัติเหตุ คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายมาก่อนหรือจงใจให้เกิดขึ้น จะต้องมีการป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ไว้ล่วงหน้า และหาทางแก้ไขปัญหาด้วย เช่น
3.1 สร้างที่อยู่อาศัยให้มั่นคงแข็งแรง
3.2 สร้างที่อยู่อาศัยให้มีการป้องกันอัคคีภัยและมีทางหนีไฟ
3.3 ป้องกันอันตรายที่เป็นอุบัติเหตุจากภัยธรรมชาติ
3.4 การป้องกันอุบัติเหตุจากแมลงและสัตว์กัดต่อยและการใช้ยาฆ่าแมลง
3.5 การป้องกันการรุกรานจากโจรผู้ร้าย
3.6 การบำรุงรักษาซ่อมแซม
3.7 การเลือกทำแลสร้างที่อยู่อาศัยให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุ
4) การควบคุมและป้องกันการเกิดโรคติดต่อในที่อยู่อาศัย การควบคุมและการป้องกันการเกิดโรคและการระบาดของโรคติดต่อในที่อยู่อาศัยนับว่าสำคัญ บ้านที่ไม่ถูกสุขลักษณะจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค และทำให้เกิดโรคติดต่อระบาดขึ้นในหมู่ผู้พักอาศัย สิ่งจำเป็นทางด้านการสุขาภิบาลในที่อยู่อาศัยที่ควรพิจารณาได้แก่
4.1 น้ำดื่ม น้ำใช้ น้ำที่จัดไว้สำหรับดื่มและใช้ในที่อยู่อาศัยควรจะต้องสะอาดได้มาตรฐานน้ำสะอาดและมีปริมาณเพียงพอแก่การใช้ในครอบครัวหรือผู้อยู่อาศัย
4.2 การกำจัดอุจจาระ ภายในที่อยู่อาศัยจะต้องมีที่สำหรับกำจัดอุจจาระที่ถูกสุขลักษณะ โดยปกติแล้วเป็นส้วมซึม ส้วมชักโครก หรือส้วมถังเกรอะ ซึ่งควรมีเพียงพอแก่ผู้พักอาศัย
4.3 การกำจัดขยะมูลฝอย ตามอาคารที่อยู่อาศัยควรได้จัดให้มีการเก็บรวบรวมขยะมูลฝอยในถังขยะที่ถูกสุขลักษณะ ไม่ให้เป็นที่เพาะพันธุ์แมลงและเชื้อโรค
4.4 การกำจัดน้ำเสีย น้ำเสียที่เกิดขึ้นตามอาคารที่อยู่อาศัยควรจัดเก็บรวบรวมและกำจัดที่ถูกต้อง อย่าให้เกิดการปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำและอาหาร
4.5 การเก็บรักษาอาหารและการถนอมอาหารเพื่อบริโภค การเก็บอาหารที่สามารถเน่าเสียได้ ควรเก็บไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ
4.6 การควบคุม ป้องกันแมลงและสัตว์พาหะนำโรค อาคารที่พักอาศัยต่าง ๆ ควรได้มีการควบคุมป้องกัน และกำจัดแมลงและสัตว์พาหะนำโรค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น