ทบทวนอนามัยสิ่งแวดล้อม

วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ความรู้พื้นฐานด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม(การควบุคุมและป้องกันโรคที่เกิดจากมลพฺษทางอุตสาหกรรม)

บทที่ 10
การควบคุมโรคอันเกิดจากมลพิษของสารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม
ตอนที่ 1 มลพิษของสารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรม
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรมโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่ต้องใช้เคมีภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต ซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องกับการเก็บรักษา การผลิต การใช้ และการขนส่ง ซึ่งขณะนี้ยังไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการสำหรับอันตรายของสารพิษภายในโรงงาน หากไม่มีมาตรฐานในการป้องกันอันตรายที่ดีพอ หรือเป็นเพราะคนงานขาดความรู้ ขาดความสำนึกในเรื่องอันตรายของสารพิษและละเลยข้อปฏิบัติต่าง ๆ ที่วางไว้เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน ผลที่ตามมาจะทำให้คนงานเกิดการเจ็บป่วยขึ้นดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับสารพิษที่อยู่ในโรงงานเพื่อเป็นพื้นฐานในการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นสารเคมีต่าง ๆ ในโรงงานอุตสาหกรรมและการควบคุม
1. ของแข็งแขวนลอยในอากาศ (Dust)
เมื่อผู้ปฏิบัติงานในสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่นผง(Quartz) และใยหิน(Asbestos) หายใจเข้าไปสิ่งเหล่านี้จะเข้าไปฝังอยู่ในเนื้อเยื่อปอด นานเข้าจะทำให้เกิดอาการเหนื่อย หอบ หายใจขัด เป็นสาเหตุให้เกิดโรคปอดที่เกิดฝุ่นผงดินทราย เรียกว่า ซิลิโคซีส(Silicosis) หากเกิดจากเส้นใยหิน เรียก แอสเบสโตซีส (Asbestosis) และอาจทำให้เป็นมะเร็งปอดได้ อันตรายของฝุ่นขึ้นอยู่กับขนาดของมวลฝุ่นผง เส้นใยที่แขวนลอยในอากาศ ปริมาณมวลสารที่แขวนลอยในอากาศและรูปแบบของโครงสร้าง ปริมาณมวลสารที่แขวนลอยและระยะเวลาที่ได้รับฝุ่น อุตสาหกรรมที่มีการใช้เส้นใยหินหรือแอสเบสตอส ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตกระเบื้องปูพื้นกระเบื้องปูหลังคา อุตสาหกรรมผลิตปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมผลิตผ้าเบรกผ้าครัช เป็นต้น
วิธีการควบคุม
 1. ใช้การควบคุมฝุ่น เช่น มีการควบคุมการทำงานของคนงาน โดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยลดอัตราการเสี่ยงต่อการสัมผัสกับสารแอสเบสตอสของคนงานและการผลิตควรเป็นระบบปิด
2. ใช้วัสดุอื่นมาทดแทนสารแอสเบสตอส ได้แก่ สาร Manmade minual fibre เส้นใยที่นำมาใช้ทดแทนได้แก่ ใยแก้ว ใยขนสัตว์
3. ให้คนงานสวมหน้ากากและเครื่องป้องกันภัยจากการฟุ้งกระจายของสารแอสเบสตอส
4. พยายามหลีกเลี่ยงไม่ใช้สารแอสเบสตอส เป็นวัสดุก่อสร้างหรืออุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน
2. แก๊สต่าง ๆ (Gases)
2.1 แก๊สที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองและกัดกร่อน เช่น แก๊สคลอรีน (Cl 2 ) แก๊สซัลเฟอร์ได ออกไซด์(SO 2 ) หากในบรรยากาศมีแก๊สเหล่านี้ในปริมาณสูงจะก่อให้เกิดการกัดกร่อนเนื้อเยื่อปอด ดวงตาและผิวหนังได้ อุตสาหกรรมที่มีการใช้แก๊สคลอรีน เช่น อุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษฟอกขาว ส่วนซัลเฟอร์ไดออกไซด์เป็นแก๊สที่ได้จากกระบวนการเผาถ่านหิน และใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกรดซัลฟิวริก
2.2 แก๊สที่เมื่อสูดดมเข้าไปแล้วทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะภายใน
- แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO 2 ) เป็นแก๊สที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ได้จากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ต่าง ๆ เช่น รถยนต์ แก๊สนี้สามารถซึมสู่กระแสเลือดได้เร็วกว่าออกซิเจน แล้วทำให้ร่างกายมีอาการคล้ายกับขาดออกซิเจน หน้ามืดอาเจียน
- แก๊สไฮโดรเจนไซยาไนด์ แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ และแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์แก๊สเหล่านี้จะไปจับฮีโมโกลบินแทนที่ออกซิเจน ทำให้เกิดอาการคล้ายโรคโลหิตจางขึ้นชั่วคราว
3. ของเหลว (Liquids) , ไอของของเหลว (Vapour), และละออง (Mist)
3.1 ตัวทำละลาย (solvents) เป็นสารที่มีคุณสมบัติละลายสารอื่นหรือทำให้สารอื่นเจือจางได้ เช่น ละลายไขมัน หมึก น้ำมัน สี เป็นต้น สารทำละลายมีใช้มากในสารผลิตอุตสาหกรรมหลายชนิดเช่น การผลิตพลาสติกผลิตฟองน้ำ ผลิตสี ผลิตกาว ผลิตแลกเกอร์ ผลิตทินเนอร์ และอื่น ๆ
ตัวอย่างตัวทำละลายและอาการพิษ
         เบนซิน ผู้ที่ได้รับตัวทำละลายชนิดนี้จะมีอาการ เวียนศรีษะ มึนงง หายใจช้า หมดสติ ทำลายประสาทหน้าแดง พูดไม่ชัด และทำให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว
       โทลูอีน ตัวทำละลายจะทำให้เกิดอาการพิษ ดังนี้ กดสมองทำให้ปวดหัวมึนงง เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เดินเซง่วง เคืองตา เสพติด ทำให้เคลิ้ม
3.2 กรดและด่าง (Acids and Bases) จะมีความเป็นพิษดังนี้
- ทำลายผิวหนัง เนื้อเยื่อในตาเมื่ออยู่ในสภาพไอ
- กัดกร่อนระบบหายใจและปอด เช่น กรดไฮโดรคลอริก กรดโครมิก กรดไนตริกฯลฯ
- ด่างพวกโซดาไฟแอมโมเนีย เมื่อสัมผัสผิวหนังทำให้ผิวหนังไหม้ได้
อุตสาหกรรมที่มีการใช้กรดซัลฟูริก ได้แก่ ผลิตแบตเตอรี่ ผลิตโลหะสังกะสี งานชุบโลหะ
อุตสาหกรรมที่มีการใช้กรดไฮโดรคลอริก ได้แก่ อุตสาหกรรมรีดและชุบเส้นลวดเหล็ก
อุตสาหกรรมที่มีการใช้ด่าง ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตสบู่ ผงซักฟอก โรงงานหลอมโลหะ ฯลฯ
4. สารพิษจากสารโลหะหนัก (Heavy metal) ในที่นี้จะกล่าวถึงพิษสารโลหะหนักเพียง 6 ชนิด คือ ตะกั่ว ปรอท สารหนู แมงกานีส โครเมียม และแคดเมียม ดังต่อไปนี้
4.1 พิษจากตะกั่ว อุตสาหกรรมที่มีการใช้สารตะกั่ว ได้แก่ แบตเตอรี่ บัดกรีโลหะ สกัดโลหะ สายเคเบิลทำยาฆ่าแมลง เครื่องเคลือบดินเผา การผลิตสี ตัวพิมพ์ การผลิตกระสุน ฯลฯ อาการพิษของตะกั่ว คือ ปวดท้องรุนแรง มีรสหวานในปากคล้ายอมโลหะ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนชัก ปวดรอบสะดือ โลหิตจาง พบเส้นตะกั่วสีเงินบริเวณเหงือก (Lead line)
4.2 พิษจากปรอทอุตสาหกรรมที่มีการใช้ปรอท ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้า ยาฆ่าแมลง ยารักษาโรค ทำสีกระจกเงา และบรรจุในหลอดไฟหรือปรอทหรือบารอมิเตอร์ อาการพิษของปรอท คือ ทำลายไต ลำไส้ ต่อมน้ำลาย ถุงน้ำดี น้ำลายออกมาก เนื้อเยื่อในช่องปากเน่า ฟันโยกหลุดง่าย สั่นของตา ริมฝีปาก ลิ้น แขนขากระตุกหวาดกลัว เศร้าซึม ความจำเสื่อม ง่วงเหงาหาวนอน โรคสำคัญที่เกิดจากการได้รับปรอทเป็นระยะเวลานาน คือโรคมินามาตะ
4.3 พิษจากสารหนู อุตสาหกรรมที่มีการใช้สารหนู ได้แก่ หลอมโลหะ ยาปราบศัตรูพืช น้ำยาดับกลิ่นผลิตภัณฑ์รักษาเนื้อไม้ ทำแก้ว และเครื่องดินเผา อาการพิษของสารหนู คือ ระคายเคือง โรคผิวหนังตามซอกมุมต่าง ๆ เป็นตุ่มแข็งใส พอง ผิวหนังแข็งด้านโดยเฉพาะฝ่าเท้า ผิวหนังหลุดลอกคล้ายใบไม้ผลัดใบ มีจุดคล้ายเม็ดฝนที่บริเวณสัมผัส เมื่อได้รับสารหนูเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิด มะเร็งผิวหนัง มะเร็งปอดได้
4.4 พิษจากแมงกานีส อุตสาหกรรมที่มีการใช้แมงกานีส ได้แก่ ถ่านไฟฉาย ถลุงโลหะ ผลิตสี ทำสีย้อมผ้า ทำแก้วให้มีสี ฟอกหนัง ทำปุ๋ย ทำน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หล่อเหล็กเหนียว เป็นต้น อาการพิษของแมงกานีส คือ เป็นไข้ ปวดเมื่อยลำตัว ปอดอักเสบ พิการทางสมอง ไม่มีความรู้สึก หมดกำลัง มีอาการทางจิตประสาท เดินคล้ายไก่หัวซุนไปข้างหน้า กล้ามเนื้อหดเกร็ง เคลิบเคลิ้ม
4.5 พิษจากโครเมียม อุตสาหกรรมที่มีการใช้โครเมียม ได้แก่ ชุบโลหะ ผลิตยา / อาหาร อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ พิมพ์ผ้างานล้างฟิล์ม ฟอกหนัง ปูนซีเมนต์ เป็นต้น อาการพิษของโครเมียม คือ ผิวหนังอักเสบทางเดินหายใจอักเสบ จมูกโหว่ ทางเดินอาหารอักเสบ เป็นแผลที่ลำไส้ ถ้าได้รับโครเมียมเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังและปอดได้
4.6 พิษจากแคดเมียม อุตสาหกรรมที่มีการใช้แคดเมียม ได้แก่ ชุบโลหะด้วยไฟฟ้า ชุบสังกะสี ทำ
แบตเตอรี่ อุตสาหกรรมน้ำมัน ใช้ในเตาปฏิกรณ์ปรมาณู กิจการถ่ายภาพ เป็นต้น อาการพิษของแคดเมียม คือระคายเคือง อาเจียนคล้ายอาหารเป็นพิษ ตามเหงือกและฟันเป็นวงแหวนล้างไม่ออก ปัสสาวะขาวขุ่น และเกิดโรคอิไต - อิไต ถ้าได้รับแคดเมียมเป็นระยะเวลานาน ๆ
วิธีควบคุมป้องกันสารโลหะหนักในโรงงานอุตสาหกรรม
ควบคุมสภาพแวดล้อมทั่วไป ในโรงงานอุตสาหกรรมให้มีระดับของสารโลหะหนักอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย
ให้ความรู้แก่ผู้ที่ต้องสัมผัสกับสารโลหะหนัก
ผู้ประกอบการจัดให้มีการระบายอากาศเฉพาะที่ เพื่อกำจัดไอและฝุ่นสารโลหะหนักมิให้ฟุ้งกระจาย
จัดให้มีและใช้เครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคลแก่ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องหรือผู้ที่ต้องสัมผัสสารโลหะหนัก เช่น หน้ากากป้องกันฝุ่น
มีการตรวจร่างกายสุขภาพคนงานอยู่เสมอว่ามีอาการพิษของสารโลหะหนักหรือไม่ โดยดูจากปัสสาวะ , ตรวจเลือด เพื่อการเฝ้าระวังการเกิดโรคพิษสารโลหะหนักและการค้นพบโรคนี้ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก
จัดหาที่ล้างมือ ห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ห้องอาบน้ำ เพื่อให้คนงานได้ล้างมือเปลี่ยนเสื้อผ้า และอาบน้ำชำระร่างกายเมื่อเสร็จจากการปฏิบัติงาน เพื่อมิให้มีการสะสมของสารโลหะหนักตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

ตอนที่ 2 การควบคุมโรคอันเกิดจากมลพิษของสารเคมีจากการเกษตรกรรม
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสารพิษในอาชีพเกษตรกรรม
สารเคมีเป็นพิษที่ใช้ในทางเกษตรมีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มผลผลิตทางเกษตรเป็นหลัก แต่ควรระมัดระวังเพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ชนิดของสารพิษฆ่าแมลงย่อมมีพิษแตกต่างกันออกไปตามประเภทของสารพิษ เพราะสารพิษบางอย่างได้จากธรรมชาติบางอย่างได้จากการสังเคราะห์ สารพิษที่ใช้ในการเกษตรกรรมนั้นส่วนใหญ่จะมีอันตรายต่อสุขภาพของเกษตรกร แต่ก็มีแนวทางป้องกันและแก้ไขได้ เมื่อพูดถึงสารเคมีที่ใช้ในทางเกษตรจะหมายถึง
1. สารพิษปราบศัตรูพืช (Pesticides) ซึ่งจะรวมถึงสารพิษฆ่าแมลง (Insecticide) สารพิษปราบวัชพืช(Herbicide) สารพิษกำจัดเชื้อรา (Fungicide) สารพิษกำจัดสาหร่าย (Algaecide) สารพิษกำจัดหนูและสัตว์แทะ(Rodenticide) และรวมถึงสารพิษที่ทำลายพาหะนำโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคระบาดของพืช
2. ปุ๋ย (Fertilizer) หมายถึง สารเคมีที่ไปเร่งการเจริญเติบโตของพืช ใช้เร่งดอกและผลของพืช ซึ่งในที่นี้จะหมายถึงปุ๋ยวิทยาศาสตร์เป็นหลักใหญ่ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมยอมรับกันว่าการใช้สารเคมีในการเกษตรเป็นสิ่งจำเป็นด้วยเหตุผลก็คือ 
-สามารถใช้ป้องกันแมลงและศัตรูพืชที่จะมาทำลายต้นพืชและผลิตผลของพืชได้
 -สามารถใช้ถนอมและรักษาผลิตผลทางการเกษตรที่ต้องการจะเก็บไว้นาน ๆ ได้
-ช่วยในการเพิ่มพูนปริมาณอาหารของมนุษย์และสัตว์ และใช้เพิ่มผลิตผลทางการเกษตรได้
-เมื่อมีอาหารบริบูรณ์ สุขภาพของมนุษย์ดีขึ้น เศรษฐกิจของประเทศชาติก็ย่อมดีขึ้นด้วย
ชนิดของสารพิษและโทษของสารพิษที่ใช้ในการเกษตร
1. สารกำจัดแมลง แบ่งตามกลุ่มสารเคมี ได้แก่
1.1 กลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต (organophosphate) เป็นสารอินทรีย์ที่มีฟอสเฟตเป็นองค์ประกอบสำคัญเป็นสารสังเคราะห์ที่มีสูตรพื้นฐานมาจากอนุพันธ์ของกรดฟอสฟอรัส (H 3 PO 4 )สารประกอบพวกนี้ถูกนำมาใช้ทดแทนสารสังเคราะห์พวกออร์กาโนคลอรีน เนื่องจาก
- มันมีประสิทธิภาพต่อแมลงที่ดื้อยาพวกออร์กาโนคลอรีน
- เกิดการสลายตัวได้ในสิ่งที่มีชีวิต
- มีฤทธิ์ตกค้างไม่นาน จึงไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อมนานนักตัวอย่างของสารพิษฆ่าแมลงพวกนี้ ได้แก่ malathion, parathion, diaznon
ความเป็นพิษ คือ เป็นพิษต่อระบบประสาทโดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสในระบบประสาท จะมีอาการ ปวดศีรษะ วิงเวียน อ่อนเพลีย คลื่นไส้ กล้ามเนื้อกระตุก เหงื่อออกมาก ตาพร่าแน่นหน้าอก ไม่สามารถควบคุมการขับถ่าย หมดสติ
1.2กลุ่มออร์กาโนคลอรีน (organochlorine) เป็นยาฆ่าแมลงที่มีธาตุไฮโดรเจน คาร์บอนและคลอรีนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ จะมีฤทธิ์ฆ่าแมลงโดยไปทำลายระบบประสาทส่วนกลางของแมลง เป็นสารที่อยู่ตัวมากคือสลายตัวได้ยาก จึงมีพิษตกค้างอยู่ได้นานและปนเปื้อนอยู่ตามพืชผัก ผลไม้ อยู่ในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เป็นเวลานาน ๆ นับเป็นปี ๆตัวอย่างสารพิษกลุ่มนี้ ได้แก่ DDT(dichloro ciphenyl-trichloroethane), aldrin, dieldrin, lindane
ความเป็นพิษ ส่วนใหญ่ออกฤทธิ์ต่อเส้นประสาทออกซอน ทำให้ระบบสมองส่วนกลางเสียไป เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับความรู้สึก อาการที่เด่นชัดคือ ตัวสั่น ตากระตุก บุคลิกภาพเปลี่ยนไป ความจำเสื่อม
1.3กลุ่มคาร์บาเมต (carbamate) มีสูตรโครงสร้างที่มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ สารประเภทนี้ไม่ค่อยอยู่ตัวและอันตรายไม่รุนแรงนัก แต่มีฤทธิ์ฆ่าแมลงอย่างกว้างขวางตัวอย่างของสารกลุ่มนี้ ได้แก่ carbaryl, baygon, landrin
ความเป็นพิษ เป็นพิษต่อระบบประสาทโดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสในระบบประสาท จะมีอาการ คือ ปวดท้อง ท้องเสีย อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก ตาพร่า หายใจขัด กล้ามเนื้อกระตุก แขนขาเป็นอัมพาตชั่วคราว
2. สารกำจัดวัชพืช เช่น ไกลโฟเสท อะทราซีน พาราควอท ชาวบ้านมักเรียกว่ายาฆ่าหญ้าเมื่อได้รับสารพิษ จะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน กระสับกระส่าย หายใจลำบาก แสบคอ เยื่อบุปากและริมฝีปากแห้งอาจมีเลือดออกที่โคนลิ้น ร่างกายขาดออกซิเจนมีอาการตัวเขียว
3.สารกำจัดเชื้อรา เช่น ซัลเฟอร์ คอปเปอร์ ไซเนป คาร์บอกซิน เป็นต้น สารเคมีกลุ่มนี้หลายชนิดที่ไม่มีโครงสร้างทางเคมีเหมือนกัน ถึงแม้บางชนิดจะมีพิษร้ายแรงน้อยกว่า แต่มีพิษตกค้างระยะยาวในสิ่งแวดล้อมได้เหมือนกัน
4. สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช เช่น เอทธิลลีน ตามิโนโซด์
5. สารอื่น ๆ ได้แก่
                                  - สารกำจัดหนู เช่น ฟลูโดมาเฟน ราคูมิน ซิงค์ฟอสไฟด์ เป็นต้น
                                  - สารกำจัดหอย เช่น เมทัลดีไฮด์ ไบลัสไซด์ นิโคซาไมด์ เป็นต้น
                                  - สารกำจัดไรและไส้เดือนฝอย เช่น นีมาร์กอน โบโมโพรไพเลต เป็นต้น
แนวทางป้องกันและแก้ปัญหาจากอันตรายของสารเคมีจากเกษตรกรรม
1. ควรให้ความรู้แก่คนงานทุกคนถึงข้อระมัดระวังการใช้สารพิษในการเกษตร
2. แนะนำให้เกษตรกรใช้สารพิษในการเกษตรตัวอื่นที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทดแทนตัวที่มีพิษแรง ๆ หรือแนะนำให้ใช้วิธีการปราบศัตรูพืชอื่น ๆ แทนการใช้สารพิษในการเกษตร
3. ควรมีการควบคุมเกี่ยวกับสารพิษตกค้างในน้ำ อาหารและผลิตผลของทางเกษตรกร
4. ควรมีพระราชบัญญัติเกี่ยวกับสารพิษโดยเฉพาะ โดยให้คลอบคลุมถึงสุขลักษณะของผลิตผลทางเกษตร
5. ควรจัดให้มีสัมมนาเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของการใช้สารพิษฆ่าแมลงเพื่อร่วมกันคิดหาแนวทางป้องกันอื่น ๆ อีก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น